ก.ล.ต. อนุมัติเสนอขาย Digital Bond กลุ่มแรก 4 ราย มูลค่า 6,700 ล้านบาท

ก.ล.ต.

ก.ล.ต. อนุมัติเสนอขาย Digital Bond ผ่านระบบ DIF : Web Portal กลุ่มแรก 4 ราย “ธนาคารกสิกรไทย-โตโยต้าลีสซิ่ง-ปตท.-ปตท. สผ. ศูนย์บริหารเงิน” รวมมูลค่า 6,700 ล้านบาท

วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานว่า ตามที่ ก.ล.ต. ได้เปิดทดสอบ (go-live) การใช้งานระบบ DIF : Web Portal ภายใต้โครงการ Sandbox ในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) ที่รองรับการทำธุรกรรมตราสารหนี้ดิจิทัล (Digital Bond) ในตลาดแรก ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2566 นั้น มีผู้ออกหลักทรัพย์ที่แสดงความประสงค์จะเสนอขาย Digital Bond ผ่านระบบดังกล่าวเป็นกลุ่มแรก 4 ราย

โดยเป็นการเสนอขายเฉพาะผู้ลงทุนสถาบันในมูลค่าวงเงินรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 6,700 ล้านบาท ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สผ. ศูนย์บริหารเงิน จำกัด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566 ก.ล.ต.ได้อนุมัติให้แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายของทั้ง 4 ราย มีผลใช้บังคับ (Effective filing) แล้ว โดยระบบ DIF : Web Portal ภายใต้โครงการ Sandbox นี้ สามารถรองรับธุรกรรมตั้งแต่การยื่นขออนุมัติเพื่อออกเสนอขายไปจนถึงการนำส่งรายงานภายหลังการขายเสร็จสิ้น และ ก.ล.ต. พบว่าผลการทดสอบระบบกับผู้ใช้งานจริงตั้งแต่วันที่ go-live สามารถให้บริการและนำส่งข้อมูลได้ตามที่คาด และจะติดตามการทดสอบอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ ระบบ DIF : Web Portal เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทย ที่ ก.ล.ต. ได้ริเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ซึ่งมุ่งพัฒนากระบวนการในตลาดทุนให้เป็นดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพรวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงตลาดทุนของผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน ตลอดจนช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจและตลาดทุน

รวมทั้งกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยโครงการพัฒนาระบบดังกล่าวยังได้ถูกบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) เรื่องการพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล (digital transformation)

หมายเหตุ : โครงการ Sandbox หมายถึง โครงการที่ ก.ล.ต. เปิดให้สามารถทดสอบระบบกับผู้ใช้งานจริงภายใต้สภาพแวดล้อมที่จำกัดความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจว่าระบบจะสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพก่อนการดำเนินการในวงกว้างต่อไป