CIMBT จ่อขยายจุดบริการ AIS ลุยแบงก์เอเย่นต์/ปี’65 ขึ้นแบงก์ไซซ์กลาง

แบงก์ซีไอเอ็มบี ไทย เล็งเพิ่มจุดบริการ “เอไอเอส” ลุยเอเย่นต์แบงกิ้ง มั่นใจกลางปีเปิดบริการแอปขอสินเชื่อรายย่อย ตั้งเป้าปีนี้สินเชื่อรวมโต 5% พร้อมคุมเอ็นพีแอลไม่เกิน 5% พร้อมเปิดแผนลุย หวังปี”65 ขึ้นแท่นแบงก์ขนาดกลาง

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริการ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า จากการเปิดให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งตัวแทนบริการทางการเงิน (แบงกิ้งเอเย่นต์) ได้ และสามารถให้บริการเพิ่มขึ้นในการฝาก โอน ถอนจากปัจจุบันบริการเพียง “ชำระบิล” นั้น ในส่วนของธนาคารมีความพร้อมที่จะเพิ่มจุดให้บริการผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ในปีนี้ได้ ซึ่งปัจจุบันแบงกิ้งเอเย่นต์ของธนาคาร คือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอสที่มีจุดให้บริการทางการเงินอยู่ราว 70 สาขา หลังจากที่ได้ร่วมมือกันมา 2 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธนาคารยังอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดของประกาศ ธปท.ที่จะให้ทำเพิ่มเติมอยู่ รวมถึงจะต้องมีกระบวนการดำเนินการที่รัดกุมด้วย เช่น การพิสูจน์ตัวตน โดยทางธนาคารรอ digital ID platform หรือระบบการพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัล

“แบงกิ้งเอเย่นต์ จะเป็นผลดีต่อธุรกิจธนาคารให้มีช่องทางเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น และช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น ต้นทุนด้านสาขา และตู้เอทีเอ็ม” นายกิตติพันธ์กล่าว

สำหรับทิศทางด้านดิจิทัลแบงกิ้งในปีนี้ นายกิตติพันธ์กล่าวว่า ภายในครึ่งปีแรกนี้ธนาคารจะออกแอปพลิเคชั่นการขอสินเชื่อรายย่อย หล้งจากที่ธนาคารได้เปิดบริการขอสินเชื่อผ่านตู้ kiosk ที่ติดตั้งตามสาขาเมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ธนาคารจะมีบริการใหม่ อาทิ ระบบชำระเงิน QR code e-Wallet ฯลฯ และจะมีการปรับระบบเพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าธุรกิจรายกลางและรายใหญ่ มีคุณภาพมากขึ้น

สำหรับการขยายตัวด้านสินเชื่อรวมของธนาคารในปีนี้ตั้งเป้าหมายโต 5% จากปีก่อนสินเชื่อรวม 211,000 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะควบคุมให้อยู่ในระดับ 5% จากสิ้นปี”60 อยู่ที่ 4.8% รวมถึงปีนี้ธนาคารจะตั้งสัดส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (coverage ratio) ให้มากกว่า 100% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 ที่อยู่ 93.2%

“ทิศทางปีนี้ เราเน้นการปรับปรุงและสร้างรากฐานให้แข็งแกร่ง ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟาสต์ฟอร์เวิร์ด ซึ่งในปีนี้อาจไม่เห็นตัวเลขโตหวือหวา แต่จะเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่ดีตั้งแต่กลางปี 2562 เป็นต้นไป ก็ไปตามที่วางเป้าหมายเป็นธนาคารขนาดกลางในปี 2565 ที่ผ่านมาหลายแบงก์เริ่มทรานส์ฟอร์มแล้ว หากเราอยู่เฉยไม่เป็นผลดี เราก็ต้องลดต้นทุน ทำให้สินทรัพย์มีคุณภาพที่ดีขึ้น พูดง่าย ๆ ว่าทำน้ำหนักให้ลดลงและมีกล้ามมากขึ้น” นายกิตติพันธ์กล่าว


นายกิตติพันธ์กล่าวว่า การเป็นธนาคารขนาดกลาง จะต้องมีกำไรก่อนหักสำรอง 1.2-1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารมีแผนจะต้องลดอัตราต้นทุนต่อรายได้ให้เหลือ 50% และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา การขยายฐานรายย่อยทั้งจากบริการเวลท์และสินเชื่อก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความสามารถทำกำไร