แบงก์ ระดมเงินรับ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ดึงธุรกิจเร่งกูล็อกต้นทุน

จับสัญญาณเทรนด์ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” แบงก์ประสานเสียงผ่านจุดต่ำสุด ครึ่งปีหลังแบงก์แข่งระดมเงินฝากระยะยาว “ล็อกต้นทุน” แนะผู้ประกอบการวางแผนเงินกู้ ชี้โอกาสสุดท้ายของดอกเบี้ยต่ำ “ทีเอ็มบี-ธนชาต” ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษระยะยาว ชี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแบกต้นทุนอ่วม ธปท.เตือนธุรกิจกู้ต่างประเทศวางแผนรับมือต้นทุนทางการเงินพุ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาส 4/ 2560 อัตราดอกเบี้ยถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบอยู่ที่ 0.90% ต่ำสุดรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 4/2553 ซึ่งอยู่ที่ 0.92% รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ก็ปรับลดลงต่อเนื่องเช่นกันมาอยู่ที่ 0.87%

ธปท.ส่งซิก ดบ.เข้าสู่ภาวะปกติ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.ระบุว่า ปีนี้การดำเนินนโยบายการเงินจะมีความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะความท้าทายจากการปรับอัตราดอกเบี้ยสู่ภาวะปกตินั้น เชื่อว่าทิศทางดังกล่าวเป็นการมองในระยะยาว จากปัจจุบันที่ดอกเบี้ยนโยบายถือว่าอยู่ในระดับต่ำ และเป็นระดับที่ผ่อนปรน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พูดมาตลอดคือ การกำหนดดอกเบี้ยนโยบายเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ได้จำเป็นว่าดอกเบี้ยต่างประเทศขึ้นแล้วดอกเบี้ยไทยจะขึ้นโดยทันที นโยบายการเงินก็ต้องตอบโจทย์ในประเทศ และขณะนี้เห็นได้ชัดว่า ประเทศไทยยังไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ ด้านการฟื้นตัวเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น แต่ก็อาจมีความเปราะบางในบางจุด

นายวิรไทกล่าวว่า ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ธปท.ก็ได้มีการเตือน สำหรับผู้ที่กู้เงินต่างประเทศ เมื่อเวลาดอกเบี้ยปรับขึ้นอาจต้องมีการวางแผนที่ดี เพื่อให้ต้นทุนทางการเงินไม่กระทบต่อการบริหารความเสี่ยงได้

TMB ปรับขึ้น ดบ.เงินฝากพิเศษ

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า หากดูทิศทางดอกเบี้ยเงินฝาก เชื่อว่าครึ่งปีหลังจะเป็นช่วงที่แบงก์กลับมาแข่งขันออก

โปรดักต์เงินฝากดุเดือดขึ้น และอาจทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากขยับเพิ่มขึ้นได้ ทั้งเงินฝากประจำและเงินฝากพิเศษ สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกอาจเริ่มเห็นแบงก์พาณิชย์ออกโปรดักต์เงินฝากพิเศษมาทดแทนเงินฝากที่ครบอายุ ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากระยะ 6-12 เดือน ซึ่งคาดว่าช่วงครึ่งปีแรกจะครบอายุราว 2 แสนล้านบาท ทำให้มีโอกาสเห็นแบงก์ออกโปรดักต์เงินฝากใหม่ ๆ มาเพื่อทดแทนเงินฝากที่กำลังครบอายุ

“ปัจจุบันเริ่มเห็นหลายแบงก์ออกโปรดักต์เงินฝากพิเศษบ้างแล้ว สะท้อนว่าแบงก์ต้องการเงินฝากเพื่อเตรียมพร้อมในการปล่อยกู้ มากกว่าการรักษาฐานลูกค้า ซึ่งหากดูภาพดอกเบี้ยเงินฝาก เชื่อว่ามีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องและจะเห็นชัดเจนขึ้น ตั้งแต่กลางปี 2561 เป็นต้นไป ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษระยะเวลา 12 เดือนเฉลี่ยของทั้งระบบมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.30%”

โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารทหารไทยมีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษ 2 ตัวคือ TMB Exclusive ระยะเวลา 9 เดือน ดอกเบี้ย 1.35% ซึ่งเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จากเดิมดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่เพียง 1.25% อีกแคมเปญคือ TMB Quick ระยะเวลา 12 เดือน ดอกเบี้ย 1.30% ปรับเพิ่มจากเดิมดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.0%

แนะผู้ประกอบการล็อกต้นทุน

นายนริศกล่าวว่า ภายใต้ดอกเบี้ยเงินฝากที่มีแนวโน้มขาขึ้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิหรือ NIM ของแบงก์จะถูกกดดัน จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นแบงก์ต้องมีการบริหารต้นทุนมากขึ้น ทำให้มีรายได้ค่าธรรมเนียมจากการปล่อยกู้หรือค่าฟีจากการออกหนังสือค้ำประกัน (LG) เพื่อทำให้แบงก์มีรายได้เข้ามาชดเชยต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

“เพื่อรับมือต้นทุนดอกเบี้ยขาขึ้น ช่วงครึ่งปีแรกนี้ถือเป็นไม้สุดท้ายแล้วสำหรับผู้กู้ที่จะได้ดอกเบี้ยต่ำ ดังนั้นหากใครจะกู้เวลานี้จะเหมาะสมที่สุด เพราะก่อนที่ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ย ปกติดอกเบี้ยตลาดมักจะขึ้นก่อน ต้นทุนดอกเบี้ยกู้ก็อาจขึ้นไปแล้ว ดังนั้นสำหรับภาคธุรกิจที่มีแผนจะกู้เงินอยู่แล้ว ก็ควรล็อกเงินกู้ไว้ตั้งแต่ตอนนี้” นายนริศกล่าว

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2561 ถือเป็นโอกาสที่จะแนะนำให้ลูกค้าขอสินเชื่อเพื่อการลงทุน เช่น การซื้อเครื่องจักร ฯลฯ เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้การนำเข้าสินค้า เครื่องจักรได้ถูกลง สาเหตุที่แนะนำให้ผู้ประกอบการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก เพราะจะสามารถล็อคต้องทุนเงินกู้ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงมาก

เอสเอ็มอีแบกต้นทุนอ่วม

นายนริศกล่าวเพิ่มเติมว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. ในอนาคตย่อมทำให้ภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งธุรกิจที่น่าห่วงมากที่สุดคือเอสเอ็มอี ซึ่ง สิ้นปี 2017 มียอดคงค้างสินเชื่อทั้งสิ้น 4.86 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ในอดีตการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% จะทำให้ MRR และ MOR ปรับขึ้นประมาณ 0.13% หมายความว่าหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ภาระดอกเบี้ยของเอสเอ็มอีโดยรวมจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6.24 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.4% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกอบกับกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นทำให้เมื่อวิเคราะห์ในภาพรวม ผลกระทบจากภาระดอกเบี้ยของเอสเอ็มอีที่เพิ่มอาจจะไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวลมากนัก

เคแบงก์ชี้ ดบ.ผ่านจุดต่ำสุด

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า หากดูดอกเบี้ยเงินฝากของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ พบว่าปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ แต่เชื่อว่าจุดต่ำสุดน่าจะผ่านไปแล้ว ซึ่งระยะข้างหน้าอาจมีการพูดถึงแนวโน้มขาขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะดึงให้เงินฝากในระบบปรับขึ้นตามไปด้วย

“ต่อไปคงเป็นขาขึ้นของเงินฝากแล้ว แต่การขึ้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ นั่นคือสิ่งที่ต้องติดตาม ส่วนหนึ่งต้องดูการส่งสัญญาณของ กนง.ด้วย อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังไม่เห็นภาวะการแข่งขันระดมเงินฝากของแบงก์พาณิชย์ แต่ระยะข้างหน้าก็ต้องติดตามดูว่าการปล่อยสินเชื่อร้อนแรงขนาดไหน ตอนนั้นการแข่งขันก็อาจกลับมา ซึ่งคงจะได้เห็นในช่วงครึ่งปีหลังไปแล้ว” นายปรีดีกล่าว

ครึ่งปีหลังแข่งออกเงินฝากยาว

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ปัจจุบันการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เป็นการออกมาทดแทนเงินฝากที่ครบอายุ ดังนั้นต้นปีอาจจะยังไม่ใช่จังหวะในการเร่งเงินฝากของแบงก์ แต่อาจเห็นบางแบงก์มีการออกโปรดักต์เงินฝากพิเศษออกมาบ้าง เพื่อรองรับสภาพคล่องที่ลดลงจากการปล่อยสินเชื่อแต่อยู่ในวงจำกัดเท่านั้น แต่จะเริ่มเห็นสัญญาณการแข่งขันเพื่อออกโปรดักต์เงินฝากพิเศษระยะยาวในครึ่งปีหลังเป็นต้นไป

นายคมชลัช พิถีพรหม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์เงินฝากและผลิตภัณฑ์หน่วยลงทุน ธนาคารธนชาต กล่าวว่า จากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งในปีนี้ ก็อาจเป็นปัจจัยหนุนให้มีโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ที่ 0.25% ตามแนวโน้มดอกเบี้ยโลก รวมถึงแนวโน้มสินเชื่อปีนี้ที่มีทิศทางเติบโตได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อรายใหญ่ น่าจะส่งผลให้แบงก์พาณิชย์มีการระดมเงินฝากเพิ่มเติม ทำให้อาจเห็นดอกเบี้ยเงินฝากในตลาดกลับมาแข่งขันร้อนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจเห็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.60-1.70% หรือสูงสุดที่ 2.0% ได้ จากปัจจุบันที่ดอกเบี้ยเงินฝากประจำเฉลี่ยทั้งระบบอยู่ที่ 1.20-1.40%

ล่าสุด ธนชาตออกผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์อัลตร้าเซฟวิ่งส์ ให้ดอกเบี้ยสูงสุด 1.50% ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับตลาด ซึ่งธนาคารคาดหวังว่าจะกระตุ้นให้มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อรองรับดอกเบี้ยเงินฝากที่เป็นขาขึ้นด้วย

ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาแบงก์พาณิชย์ส่วนใหญ่เน้นออกเงินฝากระยะ 6-12 เดือน แต่อนาคตเมื่อเห็นสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้น จะเห็นแบงก์พาณิชย์ออกเงินฝากพิเศษระยะยาวมากขึ้น ตั้งแต่ 12-36 เดือน เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงิน