เงินบาทกลับมาอ่อนค่า จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า สถานการณ์การเมือง

เงินบาท

เงินบาทกลับมาอ่อนค่า สอดคล้องกับดัชนีหุ้นไทยที่ย่อตัวลงช่วงปลายสัปดาห์ SET Index ย่อตัวลงช่วงปลายสัปดาห์ โดยเผชิญแรงขายทำกำไรจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ระหว่างรอผลการเลือกตั้งของไทย จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า การเมืองในประเทศ จีดีพีไตรมาส 1/66 ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

วันที่ 13 พฤษภาคม 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทอ่อนค่ากลับมาทดสอบแนว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ช่วงปลายสัปดาห์ หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือนที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงแรก

โดยเงินบาทขยับแข็งค่าตามจังหวะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุน หลังจากการเจรจาเพื่อเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน และผู้นำของสภาคองเกรสยังคงไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน

นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยลบจากตัวเลขเงินเฟ้อ CPI ซึ่งชะลอลงมาที่ 4.9% YoY ในเดือนเม.ย. (ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 5.0%) และหนุนการคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้มตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ตามเดิมในการประชุมเดือนมิ.ย.นี้

อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกและอ่อนค่ากลับมาทดสอบแนว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ตามการปรับตัวลงของทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับน่าจะมีการปรับโพสิชั่นก่อนการเลือกตั้งของไทยในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. นี้

กราฟค่าเงินบาท 1-12 may 66

ในวันศุกร์ที่ 12 พ.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 33.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพุธก่อนหน้า (3 พ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 8-12 พ.ค. เม.ย. 2566 นั้น แม้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยประมาณ 4,673 ล้านบาท แต่ก็มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทยถึง 36,854 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 42,908 ล้านบาท และมีตราสารหนี้หมดอายุ 6,054 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (15-19 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.80-34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองและตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ของไทย ผลการเจรจาแก้ปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและฟิลาเดลเฟียเดือนพ.ค. ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก การเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือนเม.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเม.ย. ของยูโรโซน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจจีนในเดือนเม.ย. อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย แม้หุ้นไทยขยับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แต่ลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยดีดตัวขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ หลังตลาดกลับมาเปิดทำการหลังช่วงวันหยุด โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อของต่างชาติและนักลงทุนสถาบัน ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า ทิศทางเงินเฟ้อของสหรัฐฯ น่าจะชะลอตัวลง ซึ่งทำให้เฟดมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไป

ขณะที่หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ปรับขึ้นมากสุด เนื่องจากมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากประเด็นการซื้อหุ้นคืนของบริษัทไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบ ก่อนจะเผชิญแรงเทขายช่วงปลายสัปดาห์ระหว่างรอติดตามการเลือกตั้งของไทยซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. นี้ รวมถึงประเด็นเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีข้อสรุป

กราฟตลาดหุ้นไทย 10-13 พ.ค.66

ในวันศุกร์ (12 พ.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,561.35 จุด เพิ่มขึ้น 1.83% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 53,460.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.59% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.44% มาปิดที่ระดับ 501.57 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,545 และ 1,530 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,585 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 1/66 ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และสถานการณ์การเมืองในประเทศ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนเม.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ของยูโรโซน จีดีพีไตรมาส 1/66 ของญี่ปุ่น อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ของจีน เช่น ยอดค้าปลีกและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร