ธ.ก.ส.ขอตั้ง “แบงกิ้งเอเย่นต์” ปีแรกปูพรมกลุ่มการเงินชุมชน 900 แห่ง

ธ.ก.ส.ชงแบงก์ชาติขอตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์ วางกลุ่มเป้าหมาย 7 กลุ่ม เน้นใกล้ชิดชุมชน ยันไม่ตั้งเซเว่นอีเลฟเว่นเหมือนธนาคารพาณิชย์ ระบุเฟสแรกให้รับชำระค่าสาธารณูปโภค ยันเก็บค่าบริการเท่าเดิม ลูกค้าไม่กระทบ ธนาคารรับภาระแบ่งรายได้ให้แบงกิ้งเอเย่นต์แทน 

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการธนาคารได้มีแนวนโยบายให้ ธ.ก.ส. สามารถแต่งตั้งตัวแทนของสถาบันการเงิน (banking agent) ได้ โดยธนาคารอยู่ระหว่างเสนอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้ที่จะมาเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ ซึ่งก็จะมี 7 กลุ่มเป้าหมาย อาทิ สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน เป็นต้น และจะมีการกำหนดการให้บริการทำธุรกรรมด้วย

“แบงกิ้งเอเย่นต์ของ ธ.ก.ส. เราคงเน้นให้ใกล้ชิดชุมชน แต่คงไม่ได้ไปทำกับพวกเซเว่นอีเลฟเว่นเหมือนกับธนาคารพาณิชย์” นายสมศักดิ์กล่าว

สำหรับระยะแรกในปีบัญชี 2561 (1 เม.ย. 2561-31 มี.ค. 2562) ธ.ก.ส.จะเน้นสนับสนุนให้แบงกิ้งเอเย่นต์เป็น “ที่ปรึกษาทางการเงิน” ให้แก่คนในชุมชน และทำธุรกรรมการเงินง่าย ๆ ก่อน คือการรับชำระค่าสาธารณูปโภค ส่วนการรับฝากเงิน ถอนเงิน ชำระหนี้สินเชื่อ จะเป็นเฟสต่อ ๆ ไป ซึ่งการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินนั้น ไม่ต้องขออนุญาตจาก ธปท.

“แบงกิ้งเอเย่นต์ของเรา แต่ละกลุ่มเป้าหมายก็จะทำธุรกรรมที่ต่างกันไป อย่างเช่น สถาบันการเงินชุมชนก็อาจให้ทำธุรกรรมฝาก/ถอนเงิน และเพย์เมนต์ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละธุรกรรมไม่ได้เริ่มพร้อมกันหมด จะค่อย ๆ ทยอยเป็นเฟส ๆ ไป โดยช่วงแรกเราจะเน้นให้เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินก่อน รวมถึงให้บริการชำระค่าสาธารณูปโภค ซึ่งจะมีทั้งกองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน รวมแล้วราว 900 แห่ง” นายสมศักดิ์กล่าว

ส่วนการคิดค่าธรรมเนียมการให้บริการนั้น จะอยู่ในอัตราเท่ากับที่ธนาคารคิดตามปกติ ด้านแบงกิ้งเอเย่นต์ก็จะได้รับส่วนแบ่งจากธนาคารแทน ตัวอย่างเช่น ค่าธรรมเนียมการชำระค่าบริการสาธารณูปโภคอาจจะคิด 5 บาทต่อรายการ ก็จะแบ่งให้แบงกิ้งเอเย่นต์ 2 บาท แล้วเข้า ธ.ก.ส. 3 บาท เป็นต้น ดังนั้น ชาวบ้านที่เป็นลูกค้าไม่มีภาระเพิ่ม

Advertisment

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า หลักการของการตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์ของ ธ.ก.ส.คืออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวบ้าน ที่จะได้ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสาขาของธนาคารที่อยู่ในตัวเมือง และในทางกลับกัน จะเป็นการช่วยลดภาระงานให้แก่พนักงานแบงก์ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารลดต้นทุนการขยายสาขาลงไปได้ด้วย นอกจากนี้ในระยะข้างหน้าอาจจะให้แบงกิ้งเอเย่นต์ช่วยทำหน้าที่บางส่วนที่เกี่ยวกับสินเชื่อ อาทิ การร่วมตรวจสอบหลักประกันเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่การอนุมัติสินเชื่อ

ทั้งนี้ รายงานจาก ธ.ก.ส.เปิดเผยว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะทำหน้าที่แบงกิ้งเอเย่นต์ให้แก่ ธ.ก.ส. จะมีประมาณ 7-8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบุคคล สถาบันการเงินชุมชน กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ธนาคารพาณิชย์อื่น บริษัทไปรษณีย์ไทย และผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์

Advertisment

ส่วนประเภทธุรกรรมที่ ธ.ก.ส.ขอให้แบงกิ้งเอเย่นต์ดำเนินการได้มี 6 ธุรกรรม ได้แก่ ฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน รับชำระหนี้ ชำระค่าบริการสาธารณูปโภค และอำนวยสินเชื่อ