ดอลลาร์อ่อนค่า กังวลภาคการผลิตสหรัฐหดตัว

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/5) ที่ระดับ 33.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (15/5) ที่ระดับ 33.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์ก หลังมีรายงานว่าดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กเปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิต (NY Fed Manufacturing Index) ดิ่งลงสู่ระดับ -31.8 ในเดือน พ.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -3.75 หลังจากแตะระดับ +10.8 ในเดือน เม.ย. ซึ่งดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 0 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตในนิวยอร์กเผชิญภาวะหดตัว เนื่องจากอุปสงค์ที่ซบเซาส่งผลให้คำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวลดลง ส่วนการจ้างงานชะลอตัวลง และนักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้ซึ่งอาจทำให้สหรัฐผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะพบปะกับนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ

รวมทั้งผู้นำของสภาคองเกรสในวันนี้ (16/5) เพื่อเจรจาเป็นครั้งที่ 2 เกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ หลังจากที่การเจรจาครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้วไม่มีความคืบหน้า นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในงานเสวนา Thomas Laubach Research Conference ว่าด้วยนโยบายการเงิน ซึ่งเฟดจะจัดขึ้นในวันศุกร์นี้ (19/5) ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี โดยจะมีเจ้าหน้าที่เฟดหลายคนเข้าร่วมงานเสวนาดังกล่าวด้วย ซึ่งรวมถึงนายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.73-33.96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.95/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 1/66 ขยายตัว 2.7% จากตลาดคาดขยายตัว 2.3-2.4% และปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสที่ 4/65 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวรวมทั้งการผลิตในภาคเกษตร ขณะที่การอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน และรายรับจากบริการต่างประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

นอกจากนั้นวันนี้ประเทศจีนซึ่งมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทย เปิดเผยข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังในจีน สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับขึ้น 5.6% ในเดือน เม.ย.เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 10.9% สำหรับเดือน เม.ย. ทางด้านยอดค้าปลีกของจีนปรับขึ้น 18.4% ในเดือน เม.ย. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 21.0% สำหรับเดือน เม.ย.

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/5) ที่ระดับ 1.0871/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (15/5) ที่ระดับ 1.0864/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยวันนี้มีการเปิดเผยข้อมูลตัวเลข GDP ของยูโรโซนในไตรมาสแรก ซึ่งขยายตัวเพียง 0.1% ในไตรมาสแรกและขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบรายปี แสดงให้เห็นว่ายูโรโซนแทบไม่มีการเติบโตเลยในช่วงสามเดือนแรกของปี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0861-1.0904 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0894/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/5) ที่ระดับ 135.93/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (15/5) ที่ระดับ 136.24/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังมีรายงานว่าดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 135.71-136.11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 136.24/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราว่างงานเดือนมีนาคมประเทศอังกฤษ (16/5), ดุลการค้าเดือนมีนาคมสหภาพยุโรป (16/5), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนเมษายนประเทศญี่ปุ่น (18/5), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (18/5) และอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน ประเทศญี่ปุ่น (19/5)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.25/-11.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -13.00/-12.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ