ตลาดผันผวน จากปัจจัยความไม่แน่นอนในตลาด

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ตลาดผันผวนจากปัจจัยความไม่แน่นอนในตลาด หลังประธานเฟดบางสาขายังหนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อยังไม่ลดลง ขณะที่นักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 15-19 พฤษภาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (15/5) ที่ระดับ 33.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/5) ที่ 33.98/34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

หลังสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคมที่ปรับตัวลดลงเกินคาด โดยออกมาที่ระดับ 57.7 ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ที่ 63.0 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและวิกฤตภาคธนาคาร

ในขณะที่ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กเปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิต (NY Fed Manufacturing Index) ดิ่งลงสู่ระดับ -31.8 ในเดือนพฤษภาคม และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -3.75 หลังจากแตะระดับ +10.8 ในเดือนเมษายน

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่ายอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนเมษายน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.8% หลังจากร่วงลง 0.7% ในเดือนมีนาคม ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนเมษายน หลังจากร่วงลง 0.4% ในเดือนมีนาคม โดยยอดค้าปลีกปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคม

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ได้เปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือนเมษายน สู่ระดับ 1.4 ล้านยูนิต สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 1.37 ล้านยูนิตในเดือนมีนาคม ปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากนายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา และนายออสตัน กูลสบี ประธานเฟดสาขาชิคาโก แสดงมุมมองเชิงบวกเมื่อวานนี้ โดยระบุว่าเฟดจะสามารถทำให้เศรษฐกิจสหรัฐผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้อย่างราบรื่น แต่นายบอสติกเตือนว่า เฟดจะเผชิญบททดสอบที่ท้าทาย หากสถานการณ์เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้

ประธานเฟดบางสาขายังหนุนขึ้นดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดีประธานเฟดบางสาขายังคงสนับสนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์กกล่าวว่า เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหากเงินเฟ้อยังไม่ปรับตัวลง และเขายังมองไม่เห็นเหตุผลในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

ทางด้านนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ได้แถลงว่า เธอสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อไป ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้ซึ่งอาจทำให้สหรัฐผิดนัดชำระหนี้อย่างเร็วที่สุดในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ หลังจากมีรายงานว่า การหารือรอบที่ 2 ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐและนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐได้ถูกเลื่อนออกไปเป็นสัปดาห์นี้แทน

พร้อมกันนี้ สำนักงานงบประมาณของสภาคองเกรสเปิดเผยในวันศุกร์ว่า สหรัฐจะเผชิญความเสี่ยงครั้งใหญ่ที่จะผิดนัดชำระหนี้ภายใน 2 สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนหากไม่มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงวิตกว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของเฟดอาจฉุดเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ทั้งนี้ในช่วงท้ายสัปดาห์มีการรายงานล่าสุด ซึ่งระบุว่าประธานาธิบดีของสหรัฐ นายโจ ไบเดน และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเห็นพ้องกันว่าทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้ภายในวันอาทิตย์นี้ (21/5) เพื่อช่วยให้สหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธนาคารและเลี่ยงภาะเศรษฐกิจถดถอย

การเมืองในประเทศรอผลตั้งรัฐบาล-นายกรัฐมนตรี

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบภายหลังจากผลการเลือกตั้งออกมาตามที่สื่อต่าง ๆ ได้ทำการสำรวจไว้ อย่างไรก็ดี ต้องรอดูความคืบหน้าต่อไป เช่น สูตรจัดตั้งรัฐบาล การเลือกนายกรัฐมนตรี โดยคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะผันผวนน้อยลงเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

ในส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยในไตรมาสแรกของปี 2566 นั้นขยายตัว 2.7% ปรับตัวขึ้นจากการขยายตัวที่ 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2566 ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปี 2565 ที่ 1.9% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส

นอกจากนี้ รมว.คลังกล่าวว่า ขณะนี้สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งแนวโน้มการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้สนามบินเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว กระทรวงการคลังคาดว่า ยอดนักท่องเที่ยวในปีนี้ 29 ล้านคน ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดว่า 28 ล้านคน หวังสร้างรายได้เข้าประเทศ 1.27 ล้านล้านบาท นับเป็นปัจจัยบวกในการทำรายได้เข้าประเทศ

ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวโดยรวมในทิศทางที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์อยู่ในกรอบระหว่าง 33.69-34.51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (19/5) ที่ระดับ 34.38/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (15/5) ที่ระดับ 1.0851/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/5) ที่ระดับ 1.0910/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเปิดเผยข้อมูลตัวเลข GDP ของยูโรโซนในไตรมาสแรก ซึ่งขยายตัวเพียง 0.1% ในไตรมาสแรก และขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบรายปี แสดงให้เห็นว่ายูโรโซนแทบไม่มีการเติบโตเลยในช่วงสามเดือนแรกของปี

เศรษฐกิจเยอรมนียังเลวร้าย

นอกจากนี้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีร่วงลงสู่ระดับ -10.7 จุดในเดือนพฤษภาคม จากระดับ 4.1 จุดในเดือนเมษายน หนักกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ -5.3 จุด โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานตัวเลขดังกล่าว ซึ่งบ่งชี้ว่าปัญหาเศรษฐกิจของเยอรมนีอาจเลวร้ายลงกว่าเดิมในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อ (CPI) ของสหภาพยุโรปประจำเดือนเมษายนที่ออกมานั้นยังอยู่ในระดับสูง โดยตัวเลขดังกล่าวออกมาที่ระดับ 7.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน (Core CPI) ออกมาที่ระดับ 5.6%

โดยนักเศรษฐศาสตร์บางคนกล่าวว่า ความซบเซายังคงดำเนินต่อไปและอาจส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยในปลายปีนี้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0758-1.0904 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (19/5) ที่ระดับ 1.0796/1.0800 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (15/5) ที่ระดับ 135.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/5) ที่ระดับ 134.70/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (15/5) ว่าดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 5.8% ในเดือนเมษายนเมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนมีนาคมที่มีการขยายตัว 7.4% และเป็นการชะลอตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 4 ซึ่งบ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวลดลง

ข้อมูลจาก BOJ ยังระบุด้วยว่า ดัชนีราคานำเข้าในรูปสกุลเงินเยนลดลง 2.9% ในเดือนเมษายนเมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนมีนาคม ที่มีการขยายตัว 9.6% ซึ่งเป็นสัญญาณว่าต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงและวัตถุดิบกำลังผ่านจุดสูงสุด ในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินเยนได้รับแรงกดดันหลังกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยยอดส่งออกประจำเดือนเมษายน ซึ่งขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยยอดส่งออกปรับตัวขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนมีนาคมที่มีการขยายตัว 4.3% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะขยายตัว 3.0%

นอกจากนี้ สำหรับยอดนำเข้าในเดือนเมษายนปรับตัวลดลง 2.3% ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 0.3% และเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 27 เดือนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ปรับตัวลง โดยญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าในเดือนเมษายนทั้งสิ้น 4.324 แสนล้านเยน (3.20 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 6.138 แสนล้านเยน

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 135.58-138.72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (19/5) ที่ระดับ 138.11/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ