ดอลลาร์อ่อนค่า หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐปลดนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 14 มีนาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (13/3) ที่ระดับ 31.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากระดับ 0.5% ในเดือนมกราคม ทั้งนี้การชะลอตัวของดัชนี CPI ในเดือนกุมภาพันธ์ มีสาเหตุจากการร่วงลงของราคาน้ำมันเบนซิน ขณะที่ราคาอาหารทรงตัว หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมกราคม นอกจากนี้ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุล ในตะกร้าเงิน ปรับตัวลดลงหลังมีรายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศปลดนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ หลังเกิดความขัดแย้งด้านนโยบายต่างประเทศหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำการโยกนายไมค์ ปอมเปโอ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแทนนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 31.12-31.22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 31.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (14/3) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2394/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (13/3) ที่ระดับ 1.2328/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร วานนี้ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี มีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐ โดยนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า ยุโรปต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการที่สหรัฐ ตัดสินใจเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเยอรมนีคาดหวังว่าจะมีโอกาสเจรจากับสหรัฐ เพื่อหาทางออกในประเด็นดังกล่าว และย้ำว่าสงครามการค้าไม่สร้างประโยชน์ให้ฝ่ายใด แต่จะทำให้เศรษฐกิจเสียหาย ทั้งนี้หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทางยุโรปก็อาจจำเป็นต้องหาวิธีรับมือในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวนอยู่ในช่วงระหว่าง 1.2364-1.2413 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2376/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (14/3) เปิดตลาดที่ระดับ 106.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (13/3) ที่ระดับ 107.07/01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาค้าส่ง (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในระดับค้าส่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้ปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันและราคาโหละนอกกลุ่มเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ แม้ดัชนี PPI ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 แต่ดัชนี PPI เดือนกุมภาพันธ์ ขยายตัวในอัตราช้าลงจากเดือนมกราคมที่ขยายตัว 2.7% ซึ่งได้แรงหนุนจากการแข็งค่าของเงินเยน นอกจากนี้ BOI เปิดเผยว่า การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ได้ดัดสินใจเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมนั้น อาจจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคาค้าส่งของญี่ปุ่น ทั้งนี้ในระหว่างวันค่เางินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 106.38-106.72 เยน/ดอลลรร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 106.57/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (14/3) ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (14/3) อัตราว่างงานฝรั่งเศส เดือนกุมภาพันธ์ (15/3) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (15/3) อัตราเงินเฟ้ออียู เดือนกุมภาพันธ์ (16/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ทีี่ -2.9/-2.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.00/-4.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ