เปิดปมขูดรีด “ดอกเบี้ย-ทวงหนี้” โหด ธปท.สั่งแบงก์-น็อนแบงก์ปรับลดล้อต้นทุน

ธปท.ร่อนประกาศ สั่งแบงก์-น็อนแบงก์ ปรับแก้การคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต-พีโลน รวมถึงค่าฟี-ค่าทวงหนี้-เบี้ยปรับ ให้เป็นธรรม เปิดข้อมูลสถาบันการเงินบางแห่งเรียกเก็บค่าฟี-ดอกเบี้ยอย่าง “โหด” ย้ำปรับลดให้เหมาะสมกับต้นทุน ประธานชมรมบัตรเครดิต แจ้งสมาชิกให้ปฏิบัติตามเกณฑ์ ธปท.อย่างโปร่งใส

ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา ถึงสถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน บริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน และบริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลในเรื่อง การเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับ ให้มีความเหมาะสมและให้เป็นธรรม อีกทั้งขอเน้นย้ำให้ผู้ให้บริการควบคุมดูแลให้มีการปฏิบัติตามประกาศอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประกาศ และเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ให้บริการทางการเงิน

โดยประกาศดังกล่าวออกมา หลังจาก ธปท.พบว่า ยังมีผู้ให้บริการบางแห่งเก็บค่าธรรมเนียมไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประกาศ เรื่องการบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct) ที่ออกมาเมื่อ 12 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา เช่น เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการด้านสินเชื่อ (front end fee) ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค แยกต่างหากจากอัตราดอกเบี้ย และเรียกเก็บค่าติดตามทวงถามหนี้โดยไม่มีการทวงถามจริง

ฐากร ปิยะพันธ์

ทั้งนี้ ประกาศ market conduct นั้น ธปท.ต้องการให้ผู้บริการถือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใสในการจ่ายและเรียกเก็บ ซึ่งผู้ให้บริการต้องกำหนดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับอย่างเป็นธรรม โดยต้องคำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริง และไม่เอาเปรียบผู้ใช้บริการทางการเงิน เป็นต้น

แหล่งข่าววงการเงินกล่าวว่า สาเหตุการออกประกาศฉบับนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ธปท.ได้มีการสั่งให้สถาบันการเงินและน็อนแบงก์ที่ทำบัตรเครดิตและพีโลน ส่งรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการคิดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยสินเชื่อของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การคิดอัตราทวงถามหนี้ ทำให้ ธปท. พบว่าการคิดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ มีความไม่เท่าเทียมกันหรือเกินจริงในบางธุรกรรม

โดยเฉพาะการทวงถามหนี้ของสถาบันการเงินและน็อนแบงก์ โดยรวมคิดอัตราเฉลี่ย 100 บาท ต่อการทวงถามหนี้ 1 รอบบิลนั้น ๆ ซึ่งอาจสูงเกินไป เพราะการโทรศัพท์หรือออกหนังสือทวงถามหนี้ อาจมีต้นทุนไม่ถึง 100 บาท ดังนั้น ธปท.จึงอาจเห็นว่า ค่าเบี้ยปรับทวงถามหนี้สามารถลดลงได้อีกให้เหลือ 50 บาท ต่อการผิดนัดชำระใน 1 รอบบิลในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจาก ธปท.ว่า การคิดอัตราค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย รวมถึงค่าปรับค่าบริการต่าง ๆ ในส่วนสินเชื่อบุคคล (ไม่มีหลักประกัน) ของสถาบันการเงิน พบว่า แบงก์พาณิชย์โดยรวมมีการคิดดอกเบี้ยรวมค่าบริการต่าง ๆ เฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 28% ต่อปี ซึ่งแบงก์ที่คิดดอกเบี้ยต่ำที่สุด คือ ธนาคารทหารไทย คิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 11.27% และธนาคารไทยพาณิชย์ 11.37% และธนาคารกรุงไทย 14.12% ส่วนการคิดค่าติดตามและทวงถามหนี้พบว่า แบงก์ที่มีการคิดค่าทวงหนี้มากที่สุด คือ ธนาคารเกียรตินาคิน ครั้งละ 500 บาทรองลงมาคือ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เก็บค่าทวงหนี้ 267.50 บาทต่อรอบบัญชี ส่วนแบงก์อื่น ๆ มีการคิดเฉลี่ยอยู่ที่ 100 บาทต่อรอบบิล ส่วนแบงก์ที่ไม่มีการเก็บค่าทวงถามหนี้เลย คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารไอซีบีซี

ด้านบัตรเครดิตพบว่า เกือบทุกแบงก์มีการคิดดอกเบี้ยรวมค่าบริการต่าง ๆ อยู่ที่ไม่เกิน 18% ต่อปี ส่วนธนาคารที่ไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่ คือธนาคารที่มีบริษัทลูกทำธุรกิจบัตรเครดิตแล้ว เช่น ธนาคารกรุงไทย ที่มีบริษัท บัตรกรุงไทย (เคทีซี) ขณะที่ธนาคารธนชาต คิดดอกเบี้ยต่ำสุดอยู่ที่ 9.9%

การทวงถามหนี้ของบัตรเครดิตพบว่า แบงก์ส่วนใหญ่ไม่มีการเก็บค่าทวงถามหนี้ มีเพียงธนาคารกสิกรไทย ที่คิดค่าทวงถามหนี้ 88 บาทต่อรอบบัญชี และธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ยูโอบี ธนชาต 100 บาทต่อรอบบัญชี และธนาคารไอซีบีซีที่ 90 บาทต่อรอบบิล

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูเมอร์ และผู้บริการสายงานดิจิทัลแบงกิ้ง และในฐานะประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธปท.ออกประกาศนี้ ต้องการจะเตือนให้แบงก์และน็อนแบงก์ที่ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลปฏิบัติตามเกณฑ์มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการเก็บค่าฟีเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายมิติที่เกี่ยวข้องกับ market conduct ที่จะต้องดูแลด้วย เช่น การเก็บข้อมูลลูกค้า การทำหนังสือชี้แจงต่าง ๆ ต้องชัดเจน ให้ผู้บริโภคเข้าใจง่าย

“การออกประกาศฉบับนี้อาจเป็นการเตือนแบงก์ ให้การคิดค่าฟีก็ควรอยู่ในกรอบ แต่ที่ผ่านมาเวลาแบงก์เก็บค่าฟีแต่ละสินเชื่อ ต้องมีการขออนุมัติ ธปท.ก่อน อีกทั้ง ธปท.ก็มีการเข้าตรวจสอบแบงก์ประจำปีอยู่แล้ว ในช่วง มี.ค.-เม.ย.ของทุกปี ดังนั้นหากแบงก์ทำผิดเกณฑ์ที่วางไว้ ทาง ธปท.ก็ต้องทราบ” นายฐากรกล่าว