เก็ง กนง.เบรกขึ้นดอกเบี้ย Wait & See ลุ้นตั้งรัฐบาลใหม่ชัด

เบรกขึ้นดอกเบี้ย

ว่ากันว่า วัฏจักรดอกเบี้ย “ขาขึ้น” น่าจะใกล้จบแล้ว ทั้งดอกเบี้ยของโลก และดอกเบี้ยของไทย โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 31 พ.ค.นี้ น่าจะเห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้น

“ดร.เชาว์ เก่งชน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย รอบนี้คงปรับขึ้นอีก 0.25% แล้วหลังจากนั้น กนง.น่าจะรอดูสถานการณ์ต่าง ๆ ก่อน ที่มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ซึ่งหลังจากนั้นอาจจะไม่ปรับดอกเบี้ยอีกไปจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยระดับ 2% เป็นระดับที่เพียงพอแล้ว เพราะเงินเฟ้อก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะลงมาที่ระดับกว่า 2% ในปีหน้าได้

“ผมมองว่า กนง.น่าจะให้น้ำหนัก 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก คงดูสถานการณ์การเมืองในประเทศ ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเรียบร้อยหรือไม่ และงบประมาณจะล่าช้าแค่ไหน กับอีกเรื่อง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะจบดอกเบี้ยสูงสุดที่ 5.5% หรือไม่ แต่ตอนนี้ตลาดมองกันว่า อาจจะขึ้นไปได้อีก ซึ่ง 2 เรื่องนี้ไปกันคนละทาง ผมคิดว่า กนง.จะให้น้ำหนักกับการเมืองในประเทศมากกว่า” ดร.เชาว์กล่าว

ดร.เชาว์ เก่งชน
ดร.เชาว์ เก่งชน

ขณะที่ “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า เชื่อว่าประชุม กนง.รอบนี้ น่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 2% จากนั้นครั้งต่อไปในการประชุมเดือน ส.ค. อาจจะปรับขึ้นอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ ต้องดูพัฒนาการของเศรษฐกิจกับเงินเฟ้อ หากเงินเฟ้อลงต่อเนื่อง เศรษฐกิจไม่ได้ดีอย่างที่คาด หรือมีความเสี่ยงมาจากข้างนอก ก็มีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2%

“คือน่าจะขึ้นอีก 1 ครั้ง เป็นอย่างน้อย ส่วนครั้งที่ 2 ยังไม่ค่อยแน่ใจ แต่เชื่อว่าไม่ขึ้นเกิน 2.25% แน่นอน ซึ่งที่ผ่านมา เงินเฟ้อไทยลดลงมาตลอด เงินเฟ้อพื้นฐานเหลือแค่ 1.6% ลงมาได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งอาจจะสะท้อนว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีเหมือนต่างประเทศ” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ฟาก “ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็น 2% ต่อปี และหลังจากนั้น กนง.จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย อีก 3 เดือนข้างหน้า เพื่อรอดูสถานการณ์ (wait & see) ดูความเรียบร้อยการจัดตั้งรัฐบาล และการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อปรับนโยบายการเงินในการประชุมรอบถัดไป

“ปัจจุบันแรงกดดันในมิติอัตราเงินเฟ้อทยอยลดลง และไม่ได้น่าเป็นห่วงเมื่อเทียบในอดีต ทำให้ กนง.ไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยอีก อย่างไรก็ดี ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นยังไม่จบ และหาก GDP เติบโตได้ดี และความเชื่อมั่นกลับมา ก็มีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในช่วงปลายปี”

สำหรับทิศทางค่าเงินบาท ในระยะสั้น จะเห็นการเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน ในระดับ 34.60-34.70 บาทต่อดอลลาร์ ขยับอ่อนค่าเข้าใกล้ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากไทยมีปัจจัยภายในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้มีแรงเทขายจากนักลงทุน ประกอบกับเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จากปัจจัยเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐ

“ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ประเมินว่า ค่าเงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่า ณ สิ้นปี 2566 คาดจะอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ จากความเชื่อมั่นที่จะเริ่มกลับมา จากความไม่แน่นอนที่ทยอยหมดลง รวมถึงปัจจัยพื้นฐานของไทยที่แข็งแกร่ง จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รายได้จากการท่องเที่ยวหนุนดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก และการนำเข้าพลังงานที่ลดลง”