กนง.มีมติเอกฉันท์ ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.00%

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า
ภาพ : pixabay

กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.00% มีผลทันที ชี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่ค่าเงินบาทยังคงได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาล

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 29 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (29/5) ที่ระดับ 34.82/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/5) ที่ระดับ 34.67/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ

เมื่อคืนวันศุกร์ (26/5) มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นพื้นฐาน (PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เมื่อเทียบรายปีปรับตัวขึ้น 4.7%1 ในเดือนเมษายน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 4.5% และปรับตัวจากระดับเดือนมีนาคมที่ 4.6% ทำให้นักลงทุนมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก

นอกจากนี้มียอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเมษายน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 3.3% ในเดือนมีนาคม ต่างจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 1% โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อเครื่องบิน อีกทั้งมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐได้ปรับตัวลงในเดือนพฤษภาคมสู่ระดับ 59.2 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ดัชนีออกมาสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดไว้ที่ระดับ 57.7 ทั้งนี้ ในวันอังคาร (30/5) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง เนื่องจากนักลงทุนได้ทยอยขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ออกมา จากตลาดได้คลายความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ หลังมีแหล่งข่าวระบุว่า การเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ และนายเควิน แมคคาร์ซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐนั้น สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับขึ้นเพดานหนี้ได้แล้วเมื่อวันเสาร์ (27/5) ที่ผ่านมา

โดยข้อตกลงจะอนุมัติให้รัฐบาลขยายเพดานหนี้เป็น 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติกันอีกครั้งในวันพุธที่ 31 พฤษภาคมนี้ และให้ทางวุฒิสภาพิจารณาภายในวันที่ 5 มิถุนายนนี้

คาดเดือนมิ.ย.นี้ เฟดยังต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25%

ทางด้าน FedWatch tool ของ CME Group ล่าสุดชี้ให้เห็นว่านักวิเคราะห์ให้น้ำหนัก 61.9% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวยังสนับสนุนให้ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงนี้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ในช่วงท้ายสัปดาห์ สภาคองเกรสสหรัฐผ่านร่างกฎหมาย “ขยายเพดานหนี้” สำเร็จอย่างเป็นทางการ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ลดแรงบวกลง หลังตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ต้นทุนแรงงานต่อหน่วย (ULC) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 4.2% ในไตรมาส 1 ซึ่งชะลอตัวลงจากการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่ามีการขยายตัว 6.3%

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดบางคนได้ออกมาสนับสนุนการระงับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิ.ย. ซึ่งรวมถึงนายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และนายฟิลิป เจฟเฟอร์สัน ว่าที่รองประธานเฟด โดยนายเจฟเฟอร์สันกล่าวว่า การระงับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.จะช่วยให้คณะกรรมการเฟดเห็นข้อมูลมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับขอบเขตการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินต่อไป

นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์นี้ (2/6) โดยคาดว่าตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค.ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 263,000 ตำแหน่งในเดือน เม.ย. และคาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.5% ในเดือน พ.ค.จากระดับ 3.4% ในเดือน เม.ย.

กนง.มติเอกฉันท์ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในช่วงนี้ค่าเงินบาทยังคงได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่ในวันอังคาร (30/5) กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนเมษายนว่า การส่งออกมีมูลค่า 21,723 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 7.6% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 7.3% ส่งผลให้เดือนเมษายนไทยขาดดุลการค้า 1,471 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ไทยขาดดุลการค้า 4,516 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับผลการประชุมของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.75 ร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที นอกจากนี้คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังมีความไม่แน่นอน เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่้ร้อยละ 3.6 และ 3.8 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.53-34.89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (2/6) ที่ระดับ 34.52/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (29/5) ที่ระดับ 1.0723/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนคาจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/5) ที่ระดับ 1.0731/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ช่วง 2 วันนี้ ค่าเงินยูโรทยอยอ่อนค่าตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาให้ความเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนนั้นยังไม่แน่นอนว่าจะกลับมาอยู่ที่ระดับ 2% ในปีนี้ได้หรือไม่ และมีการคาดการณ์ว่าการประชุมนโยบายการเงินของ ECB ครั้งหน้าในวันนี้ 15 มิถุนายนนี้ มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังดอลลาร์ลดช่วงบวกลงจากการที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลาสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. นอกจากนี้ทางยูโรมีการเปิดเผยตัวเลขอัตราการว่างงานออกมาที่ระดับ 5.6% ซึ่งเท่ากับที่ตลาดคาดการณ์

อีกทั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (Insee) ระบุว่าเงินเฟ้อเดือน พ.ค.ของฝรั่งเศสลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากราคาพลังงานและบริการชะลอตัวลง แม้ว่าเงินเฟ้อจะยังคงสูงเหนือเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อย่างต่อเนื่องก็ตาม ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0633-1.0778 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (2/6) ที่ระดับ 1.0764/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (29/5) ที่ระดับ 140.64/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/5) ที่ระดับ 136.66/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมในวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยิ่งห่างขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ดี ในวันอังคาร (30/5) กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นได้รายงานอัตราการว่างงานของญี่ปุ่นเดือนเมษายน ลดลงมาที่ระดับ 2.6% จากเดิมที่ระดับ 2.8% ในเดือนมีนาคม ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 2.7% ทั้งนี้ค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนการเปิดเผยผลสำรวจภาคเอกชนในวันพฤหัสบดี (1/6) ระบุว่า กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนในเดือน พ.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่ รวมถึงการคาดการณ์เชิงบวกในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ( PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของ Jibun Bank อยู่ที่ 50.6 ในเดือน พ.ค. ซึ่งอยู่เหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว และถือเป็นอัตราการขยายตัวเร็วที่สุดในรอบหนึ่งปี โดยระดับ 50 ขึ้นไปบ่งชี้ว่า กิจกรรมธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัวผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่แตะระรดับสูงสุดในรอบ 12 และ 13 เดือนตามลำดับ เนื่องจากความเชื่อมั่นธุรกิจและผู้บริโภคช่วยหนุนอุปสงค์

อย่างไรก็ดี นายกูรินชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า BOJ ควรเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงหากอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงเหนือระดับคาดการณ์ และควรเตรียมความพร้อมที่จะใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินหากอัตราเงินเฟ้ออยู่เหนือระดับเป้าหมายของ BOJ เป็นเวลานานเกินไป ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 138.45-140.93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (2/6) ที่ระดับ 139.00/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ