เมืองไทยฯปรับมุมคิดคนประกัน อัพเกรดสู่องค์กรอินโนเวทีฟคัลเจอร์

อีกก้าวย่างของ “เมืองไทยกรุ๊ป (MTG)” หลังได้จัดตั้ง “Fuchsia Venture Capital” (FuchsiaVC) ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับพันธมิตรที่เป็นสตาร์ตอัพและนำไปสู่การยกระดับบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าในทุกไลฟ์สไตล์ หลังจากที่ปีที่แล้ว บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) จัดตั้ง “Fuchsia Innovation Centre” ให้เป็นคลังสมองด้านนวัตกรรม

ขณะที่ “Fuchsia VC ไม่ได้ลงทุนเฉพาะกับสตาร์ตอัพเท่านั้น แต่อาจจะร่วมลงทุนผ่าน VC ด้วยกันได้ เพราะเราไม่ได้ดูแค่ผลกำไรกลับคืน แต่ดูมากกว่านั้น ว่าในอนาคตจะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อะไรได้บ้าง ซึ่งอาจจะเป็นภาพที่ไกลออกไปจากความเป็นตัวตนของเราก็ได้ เพราะ Fuchsia VC เป็นบริษัทลูกอยู่ใต้เมืองไทยกรุ๊ป ฉะนั้นจะครอบคลุมทั้งประกันชีวิต ประกันวินาศภัย และโบรกเกอร์ หรือเป็นธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจประกันเลย”

หัวเรือใหญ่ MTL ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่ธุรกิจประกันต้องปรับตัวสู่โลกใหม่ ว่า เกิดจากกระแส “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” ที่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลง “รุนแรงที่สุด” แก่ธุรกิจประกัน ขณะที่ “พฤติกรรมผู้บริโภค” เปลี่ยนไป จากเดิมที่ “ลูกค้ารับฟังบริษัท” กลายเป็น “ลูกค้ารับฟังลูกค้า” ทำให้ทุกบริษัทประกันต้องปรับไปสู่ “มุมคิดของลูกค้า” เพื่อตอบสนองในแบบ “segment of one” หรือเฉพาะเจาะจงลูกค้ามากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ MTL ได้เริ่มปรับวัฒนธรรมองค์กรใหม่ มุ่งสู่ “innovative culture” เพื่อให้ทุกคนในองค์กรได้ซึมซับและปรับตัวสู่บทบาทใหม่ ที่ต้องช่วยกันคิด โดยใช้มุมของลูกค้าค้นหาไอเดีย อาทิ โปรดักต์อาจจะไม่ใช่แค่กรมธรรม์ แต่เป็นทุกอย่างที่แตะต้องได้ เช่น คำแนะนำแบบประกัน การบริการ และลอยัลตี้โปรแกรมของสมายด์คลับ เพื่อตอบทุกโจทย์ของลูกค้าอย่างตรงจุด

“ธุรกิจประกันชีวิตยังคงดำเนินอยู่บนความท้าทาย เพราะการดำเนินธุรกิจอยู่บนยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะเดียวกัน พฤติกรรมผู้บริโภคมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทำให้บริษัทต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ความต้องการบนโลกยุคใหม่นี้ สิ่งที่คิดไว้ในอดีตไม่สามารถนำโมเดลแบบเดิมมาใช้ได้อีกแล้ว จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่บริษัทได้จัดตั้ง Fuchsia Innovation Centre ขึ้น” นายสาระกล่าว

โดยปัจจุบัน MTL มีนโยบายยืมตัวพนักงานที่มีความชำนาญของแต่ละฝ่าย เช่น คณิตศาสตร์ประกันภัย โปรดักต์ ไอที มาร์เก็ตติ้ง เป็นต้น เข้ามาร่วมทีม “Fuchsia” และให้ใช้เวลาทำงานอย่างน้อย 80% ต่อวัน เป็นเวลา 2-3 เดือน

“สาระ” บอกว่า พนักงานจะหมุนเวียนกันเข้ามาในทีม “Fuchsia” ทำให้ได้วิธีคิดแบบใหม่กลับไป เนื่องจากคนทำงานที่นี่จะไม่มีหมวก ไม่มีกฎเกณฑ์มาคอยบังคับ โดยขณะนี้เริ่มนำร่องในระดับ “รองกรรมการผู้จัดการ” และ “ผู้อำนวยการ” เข้าสู่ทีม และเริ่มลงมาสู่ระดับ “พนักงาน” ต่อไป

“ฤทัย สุทธิกุลพานิช” Head of Fuchsia เล่าว่า ตอนนี้ Fuchsia มีสมาชิกในทีมทั้งชาวไทยและต่างชาติราว 9 คน และสามารถดึงพนักงานอื่น ๆ เข้ามาช่วยระดมความคิดได้ และสามารถยื่นขอเงินทุนจาก Fuchsia VC ได้ หากโปรเจ็กต์ที่คิดขึ้นมีความเป็นไปได้ ทั้งนี้ หลายโปรเจ็กต์จะได้เห็นในปีนี้

“ปีที่แล้วได้ทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพฮ่องกง ในโครงการ ‘myTHAIDNA’ ซึ่งผลที่ออกมาเป็นการทดสอบนวัตกรรมด้านการป้องกันและการดูแลสุขภาพลูกค้าเมืองไทยประกันชีวิต ด้วยบริการตรวจ DNA จากน้ำลาย เพื่อลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยได้ยื่นขอเงินลงทุนและผ่านการอนุมัติจาก Fuchsia VC ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการ โดยส่งต่อให้ฝ่ายมาร์เก็ตติ้งเป็นผู้ดูแล”

ไม่เพียงแต่ช่วยจุดประกายความคิดคนในองค์กรเท่านั้น “Fuchsia” ยังทำหน้าที่ดีลโปรเจ็กต์กับสตาร์ตอัพและพันธมิตรทางธุรกิจภายนอกด้วย โดยปัจจุบันกำลังเจรจากับพันธมิตรอีก 3 ราย ซึ่งเป็นความร่วมมือผ่านโครงการ “Dtac Accelerate”

โดยในปีที่ผ่านมาก็มีดีลเข้ามา 1 ราย จากโครงการดังกล่าว คือ “Health at Home” ที่เป็นธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่บ้าน โดยมีระบบ real-time analytics ติดตามการดูแลรักษาได้ตลอดเวลา ซึ่งได้นำมาใช้กับลูกค้าสูงวัยเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแบบ segment of one ทั้งนี้ ในปัจจุบันลูกค้าต้องใช้แต้ม (point) จากเมืองไทยสมายด์คลับ ในการแลกรับบริการเสริมนี้ แต่ในอนาคตคาดว่าจะพ่วงไปกับแบบประกันของบริษัทได้เลย

ทั้งนี้ ปัจจุบัน MTL ได้เข้าร่วมลงทุนกับธุรกิจ “Health at Home” ของ “นายแพทย์คณพล ภูมิรัตนประพิณ” CEO และ cofounder บริษัท เฮลท์ แอท โฮม จำกัด เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากธุรกิจมีอัตราการเติบโตสูง

อีกก้าวของการปรับเปลี่ยนในธุรกิจประกัน ที่แม้แต่ค่ายใหญ่ MTL ยังต้องลงลึกถึงระดับ “วัฒนธรรมองค์กร” เพราะหากไม่รีบปรับตัว ธุรกิจก็อาจจะแข่งขันไม่ได้ในที่สุด