พลิกเกมการตลาด ด้วย QR code

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย พรรณวลัย อินทราพิเชฐ ทีเอ็มบี

ทุกวันนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหน สังเกตดี ๆ จะพบเห็น QR code ปรากฏอยู่ในแทบทุกที่ ไล่ตั้งแต่บนบิลบอร์ดโฆษณาขนาดใหญ่ ไปจนถึงนามบัตรใบเล็ก หากใช้มือถือสแกนดู ก็จะพบข้อมูลที่แบรนด์สินค้าหรือเจ้าของธุรกิจต้องการจะสื่อสาร เช่น ลิงก์ลัดไปยังหน้าเว็บไซต์ที่โชว์ข้อมูล รูปภาพ วิดีโอ เกี่ยวกับตัวสินค้าได้อย่างรวดเร็ว

ที่พบเห็นได้บ่อย คือ การนำ QR code มาเล่นโปรโมชั่นพอหอมปากหอมคอไม่ว่าจะเป็นการให้ลูกค้าสแกนเพื่อลุ้นรับสิทธิประโยชน์จากร้านค้า เช่น รับ e-Coupon ส่วนลดราคาสินค้า หรือรับของแถมฟรี เป็นต้น การเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ดึงดูดให้ผู้คนยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาสแกน QR code ยังคงเป็นจิตวิทยาที่ใช้ได้ผลเสมอในยุคบริโภคข้อมูลนิยม

วันนี้ขอยกตัวอย่าง ร้านอาหารญี่ปุ่น Harney Sushi ในเมืองซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา นำ QR code มาสร้างความตื่นเต้นให้กับลูกค้าอย่างได้ผล โดยติดแผ่นบาร์โค้ดลงบนซูชิที่เสิร์ฟมาในจาน เมื่อลูกค้าใช้มือถือสแกน ก็จะเข้าถึงข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ยวกับวัตถุดิบที่นำมาปรุงเมนูจานนั้น ๆ เช่น ชนิดของปลา แหล่งที่มาของปลา แต่ที่สร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับลูกค้ามากที่สุด เห็นจะเป็นการที่แผ่น QR code นั้น…กินได้ เพราะทำจากแผ่นแป้งบาง และพิมพ์ด้วยหมึกที่รับประทานได้ กลยุทธ์นี้ไม่เพียงสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับตัวสินค้าแก่ลูกค้าที่ใส่ใจในเทรนด์อาหารปลอดภัย แต่ยังทำให้ซูชิขายดิบขายดีตามไปด้วย

QR code ได้รับความสนใจจากคนทำธุรกิจ เพราะนอกจากจะอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว การทำการตลาดผ่าน QR code ยังมีต้นทุนต่ำ มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูง เนื่องจากเป็นการนำเสนอข้อมูลทางออนไลน์ที่ไม่ต้องใช้กระดาษให้สิ้นเปลือง จึงช่วยประหยัดต้นทุนในการทำธุรกิจอย่างมาก ที่สำคัญยังสามารถวัดความสำเร็จจากยอดหรือจำนวนครั้งในการสแกน QR code ได้โดยตรง

อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจของ QR code มิได้จำกัดอยู่แค่สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังกรอบบาร์โค้ด 2 มิติ สีขาว-ดำ แต่ผู้ประกอบการยังสามารถสร้างสีสันการตลาดได้ตั้งแต่การออกแบบหน้าตาของ QR code ให้แตกต่าง เติมสีสันให้โดดเด่นสะดุดตา รวมทั้งแทรกโลโก้ลงไปใน QR code ได้ด้วย เพื่อดึงดูดการใช้งาน สิ่งเหล่านี้เอสเอ็มอีสามารถลงมือ ลองสร้าง และปรับแต่งได้เองอย่างง่ายดาย

หากวันนี้เอสเอ็มอียังคงแลกนามบัตรกับลูกค้า แนะนำให้ลองทำ QR code ที่บรรจุข้อมูลธุรกิจของท่านดู เวลาพบปะหน้ากันก็แค่แลกเปลี่ยนกันสแกน หรือติด QR code ไว้หน้าบูท กรณีไปออกงานแสดงสินค้า เพื่อให้ลูกค้าที่สนใจยกมือถือสแกนได้ทันที เพียงเท่านี้ข้อมูลติดต่อที่จำเป็น เช่น ชื่อ เบอร์ติดต่อ อีเมล์ เว็บไซต์ ฯลฯ ก็จะถูกจัดเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ ที่พร้อมเสมอสำหรับการติดต่อเจรจาธุรกิจ จากนี้ไปก็ไม่ต้องกังวลกับปัญหานามบัตรหาย หรือการรื้อหานามบัตรที่กองเป็นตั้ง ๆ อีกต่อไป

ในอนาคตคาดว่าการทำมาร์เก็ตติ้งด้วยบาร์โค้ด จะน่าตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น เมื่อเข้าสู่ยุคบาร์โค้ด 3 มิติ หรือ AR (augmented reality) ที่ผสานเอาโลกความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือนได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ และสร้างกระแสฮิตถล่มทลายในช่วงปีเศษ ๆ มาแล้วกับการที่ทุกคนต่างพากันถือมือถือตามล่าหาโปเกมอนในสถานที่ต่าง ๆ ปัจจุบันได้เริ่มมีการประยุกต์ใช้ AR ในเชิงธุรกิจ เช่น บริษัท IKEA ที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาให้บริการออกแบบห้องให้กับลูกค้า โดยจำลองเฟอร์นิเจอร์ของ IKEA วางซ้อนทับลงไปในห้องจริง ซึ่งช่วยสร้างประสบการณ์เหนือชั้นให้กับลูกค้าได้มากทีเดียว

หาก QR code เป็นเครื่องมือที่จะมาพลิกเกมการตลาด AR ก็เป็นเครื่องมือเปลี่ยนโลก แต่ธุรกิจของเอสเอ็มอีจะเปลี่ยนแปลงไปได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการใช้จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญต้องรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ เพิ่มมูลค่าธุรกิจให้ได้มากที่สุด เมื่อนั้นสินค้าหรือบริการของเอสเอ็มอีก็จะโดดเด่นและล้ำหน้ากว่าใครแน่นอน…

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้