นโยบายปกป้อง (กีดกัน) การค้าของสหรัฐ

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินให้ความสนใจเรื่องของเงินเฟ้อ หลังจากตกใจกับตัวเลขค่าจ้างแรงงานของสหรัฐที่เร่งตัวขึ้นมากกว่าคาดการณ์ จนทำให้ตลาดเงินเริ่มกังวลว่าเงินเฟ้ออาจจะเร่งตัวจนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่เคยคาดไว้ (เดิมตลาดการเงินเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยไม่เกิน 2 ครั้งในปีนี้) ส่งผลให้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล และค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น

เดือนมีนาคม นโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐก็เริ่มเป็นประเด็นที่ทุกคนจับตามอง หลังจากที่ทรัมป์กล่าวว่าสหรัฐจะเก็บภาษีสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้า (โดยอ้างว่ากระทบต่อความมั่นคงภายในของสหรัฐ โดยใช้กฎหมายการค้ามาตรา 232 ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจประธานาธิบดี) ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลก ตลาดพันธบัตร และดอลลาร์ปรับตัวลดลง ทำให้เกิดความกังวลว่าสหรัฐจะเริ่มดำเนินนโยบายกีดกันการค้าที่เข้มข้นขึ้น จนส่งผลให้การขยายตัวทางการค้าและเศรษฐกิจโลกในปีนี้ไม่สดใสอย่างที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองภาพไว้ โดยเฉพาะถ้าประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายภาษีตอบโต้

อย่างที่เคยกล่าวไว้ในบทความก่อนหน้าว่า หนึ่งในความเสี่ยงที่สำคัญของปีนี้ คือ ทรัมป์อาจจะดำเนินนโยบายกีดกันการค้าที่เข้มข้นขึ้น เพราะในปีแรกทรัมป์ยังไม่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ตามที่หาเสียงไว้ สิ่งที่ทรัมป์ได้ตัดสินใจไปเกี่ยวกับนโยบายการค้าในปีก่อน คือ การถอนตัวจาก TPP (ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) และการขอเจรจาปรับเงื่อนไข NAFTA (สนธิสัญญาความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ) แต่ยังไม่ได้มีการใช้มาตรการภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมของสหรัฐ อย่างไรก็ดี ในปีที่ผ่านมา ได้มีการร้องเรียนจากผู้ผลิตในสหรัฐ และการสอบสวนโดยส่วนงานที่ดูแลการค้าของสหรัฐที่อ้างว่าบริษัทต่างชาติดำเนินการไม่เป็นธรรมทางการค้ากับสหรัฐในหลายกรณี รวมทั้งกรณีเหล็กและอะลูมิเนียม โดยผลการสอบสวนเริ่มทยอยเสร็จและส่งให้ประธานาธิบดีพิจารณาดำเนินการ

ที่เห็นได้กรณีแรก คือ การประกาศขึ้นภาษีเครื่องซักผ้า (สำหรับจำนวนที่เกินโควตา โดนเก็บภาษีสูงสุดที่ 50%) และแผ่นโซลาร์เซลล์ (ภาษีสูงสุดที่ 30%) ในปลายเดือนมกราคม โดยผู้ส่งออกรายใหญ่ที่ถูกกระทบ คือ เกาหลีใต้และจีน

สำหรับกรณีของเหล็กและอะลูมิเนียมนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้นำเสนอผลการสอบสวนและข้อเสนอแนะให้กับประธานาธิบดีทรัมป์ในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อให้ประธานาธิบดีตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรภายใต้กฎหมายการค้า section 232 โดยข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐในกรณีของเหล็ก คือ 1 เก็บภาษี 24% จากเหล็กนำเข้าจากทุกประเทศ หรือ 2 เก็บภาษี 53% จากเหล็กนำเข้าจาก 12 ประเทศ (ไทยติด 1 ใน 12 ด้วย) หรือ 3 กำหนดโควตาให้แต่ละประเทศส่งออกมาสหรัฐได้แค่ 63% ของปริมาณที่ส่งออกมาสหรัฐในปี 2017 เท่านั้น ส่วนกรณีของอะลูมิเนียม 1.เสนอให้เก็บภาษี 7.7% จากอะลูมิเนียมนำเข้าจากทุกประเทศ หรือ 2.เก็บภาษี 23.6% และกำหนดโควตาเท่ากับการส่งออกปี 2017 กับประเทศเป้าหมาย (เช่น จีน เวียดนาม รัสเซีย ฯลฯ) หรือ 3.กำหนดโควตาให้แต่ละประเทศส่งออกมาสหรัฐได้แค่ 86.7% ของปริมาณที่ส่งออกมาสหรัฐในปี 2017 เท่านั้น ซึ่งมีรายงานข่าวว่า ทรัมป์น่าจะตัดสินใจในเร็ววัน ว่าจะดำเนินมาตรการเซฟการ์ดดังที่กระทรวงพาณิชย์เสนอหรือไม่ และจะดำเนินการครอบคลุมมากเท่าใด

มาตรการดังกล่าว ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และไม่เห็นด้วยจากหลายอุตสาหกรรมภายในสหรัฐที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ และ ส.ส.รีพับลิกัน ที่สนับสนุนแนวคิดการค้าเสรี รวมทั้งที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทรัมป์ Gary Cohn ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งเพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศคู่ค้าเริ่มออกมาตอบโต้ อาทิ กลุ่มประเทศอียู เริ่มมีการเสนอให้เก็บภาษีสินค้าเหล็ก เสื้อผ้า รถยนต์ ที่นำเข้าจากสหรัฐ หรือกรณีของจีน ก็กำลังพิจารณาเก็บภาษีข้าวฟ่างนำเข้าจากสหรัฐเช่นกัน การดำเนินนโยบายตอบโต้ทางภาษี หากเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ก็จะกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ดังนั้นคงต้องจับตาดูว่าทรัมป์จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้หรือไม่

และหากผ่านเรื่องนี้ไป ยังมีกรณีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากับจีน ที่สหรัฐเปิดการสอบสวนไปในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยสอบสวนโดยอาศัยมาตรา 301 ในกฎหมายการค้าสหรัฐว่าจีนมีพฤติกรรมละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา นวัตกรรม หรือการพัฒนาเทคโนโลยีของสหรัฐหรือไม่ ทั้งนี้สหรัฐอ้างว่าจีนมีข้อกำหนดให้บริษัทสหรัฐที่ดำเนินธุรกิจในจีนต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้จีนด้วย จากรายงานของนิวยอร์กไทมส์ อ้างว่าสหรัฐสูญเสียรายได้ถึง 6 แสนล้านเหรียญต่อปี จากการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งผลการสอบสวนของผู้แทนการค้าสหรัฐเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่ออกมา ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาน่าจะเป็นประเด็นใหญ่ที่จะทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าของทั้ง 2 ประเทศตึงเครียดขึ้น เพราะฉะนั้น ความกังวลเกี่ยวกับนโยบายปกป้อง (กีดกัน) การค้าน่าจะยังเป็นประเด็นความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังต่อเนื่อง เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองสหรัฐที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ในปลายปีนี้ด้วย

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้