
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
เข้ามารับบทบาทใหม่ได้ราวครึ่งปีแล้ว สำหรับ “ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์” ผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) หลังจากโบกมือลาเก้าอี้กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหาร และกรรมการกำกับดูแลกิจการ ธนาคารกรุงเทพ มารับตำแหน่งใหม่ในไอแบงก์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา
กางแผนดำเนินงาน “ไอแบงก์”
โดย “ทวีลาภ” ให้สัมภาษณ์ในงานครบรอบ 20 ปี ไอแบงก์ ว่า ใน 3-5 ปีข้างหน้า ได้วางบทบาท “ไอแบงก์” เป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการครอบคลุมตามหลักชะรีอะฮ์ เพื่อความยั่งยืน โดยจะต้องเป็นธนาคารที่มีความแข็งแรง มีลูกค้าหลากหลายกลุ่ม เป็นธนาคารทางเลือกของผู้บริโภค รวมถึงการเชื่อมโยงกับธนาคารอิสลามในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งในแง่การค้าและการลงทุน
ทั้งนี้ จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1.มีบริการที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยหลังจากนี้ มีแผนจะออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่อเนื่องทุกเดือน เช่น เงินฝากพิเศษ การลดภาระหนี้ให้ลูกค้า รวมถึงขยายช่องทาง “mobile banking” เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการให้กับลูกค้า
“มินิแอป” เชื่อม “เป๋าตัง”
โดย “mobile banking” ได้มีความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย ทำขึ้นมาในรูปแบบ “mini application” วางไว้ในแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบและบริการ คาดว่าภายในปลายปีนี้ จะสามารถให้บริการเฟสแรก คือ บริการขั้นพื้นฐาน เช่น โอน เติม จ่าย เป็นต้น และหลังจากนั้นจะทยอยขึ้นบริการเป็นเฟส ๆ เพื่อให้ลูกค้าชาวมุสลิมมีบริการทางการเงินครอบคลุมและเทียบเท่ากับสถาบันการเงินแห่งอื่น
“เราจะวาง mini application ไว้บนเป๋าตัง ซึ่งเปรียบเหมือนมีสาขาอยู่ในนั้น ลูกค้าสามารถมาเลือกใช้บริการได้ เหมือนเป็นช้อปปิ้งมอลล์ อย่างไรก็ดี อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบ การลงทุนต่าง ๆ รวมถึงขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้บริการมีความสมบูรณ์แบบ เราคาดหวังว่าสิ้นปีนี้จะขึ้นระบบบริการเฟสแรกได้ ซึ่งจะเน้นให้บริการลูกค้าไอแบงก์ที่มีราว 1 ล้านคน”
เป้าสินเชื่อ 8 พันล้าน หนุนฮาลาล
สำหรับแผนการเติบโตของสินเชื่อในปี 2566 นั้น ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 8,000 ล้านบาท โดยกระจายในทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งรายใหญ่ เอสเอ็มอี และรายย่อย อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมาลูกค้ารายใหญ่มีอัตราการเติบโตพอสมควรตามทิศทางการฟื้นตัวของธุรกิจ
ซึ่งกลุ่มนี้ธนาคารยังคงสนับสนุนการเติบโต แต่ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของการเงินเท่านั้น แต่รวมถึงในด้านอื่น ๆ ของการดำเนินธุรกิจ เช่น ธุรกิจอาหารฮาลาล ไม่เฉพาะแค่อาหาร แต่ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น อาทิ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ หรือสินค้าเกษตร เป็นต้น
“ธนาคารจะเข้าไปช่วยผลักดันและสนับสนุนลูกค้าและผู้ประกอบการให้ธุรกิจฮาลาลมีความเข้มแข็งมากขึ้น เช่น ทำให้การขอเครื่องหมายฮาลาลมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมและเข้าถึงง่าย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการสนับสนุนการส่งออกในระดับสากล”
ประคองลูกค้ารับมือปัจจัยเสี่ยง
“ทวีลาภ” กล่าวว่า ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และในภาวะที่เงินเฟ้อและค่าครองชีพสูง ทำให้กำลังซื้อยังไม่ได้กลับมาเต็มที่ ประกอบกับปัจจัยความไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวในระยะข้างหน้าได้
ดังนั้น “ไอแบงก์” ในฐานะธนาคารของรัฐ ยังคงต้องดำเนินตามนโยบายภาครัฐในการดูแลลูกค้าและประคองให้ลูกค้าสามารถผ่านพ้นช่วงที่มีความยากลำบาก อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในบางเซ็กเตอร์ เช่น กลุ่มท่องเที่ยว
“ภาพรวมธุรกิจในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา เราถือว่าโดยรวมเป็นการเดินมาในทิศทางที่ถูกต้อง โดยสัญญาณมีทั้งบวกและลบ แต่ก็สบายใจขึ้น เพราะมีลูกค้าแข็งแรงบางส่วน บางส่วนอาจจะต้องประคอง เช่น เราเห็นการฟื้นตัวได้ดีขึ้นของธุรกิจรายใหญ่ ส่วนเอสเอ็มอี บางกลุ่มฟื้นได้ บางกลุ่มยังต้องติดตามใกล้ชิด ด้านรายย่อย ยอมรับว่ายังเป็นกลุ่มที่ละเอียดอ่อนและมีปัญหาเรื่องภาระหนี้ที่สูงอยู่ ซึ่งเราก็พร้อมดูแลลูกค้าต่อเนื่อง”
ลด “NPF” คุมคุณภาพสินเชื่อ
“ทวีลาภ” กล่าวด้วยว่า ธนาคารจะเดินหน้าแผนบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) โดยที่ผ่านมา NPF ค่อนข้างสูง 20-21% อย่างไรก็ดี ล่าสุด ลูกค้ารายใหญ่ 3-4 ราย สามารถเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหา NPF ให้ปรับตัวดีขึ้น ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น ส่วนธุรกิจขนาดกลางหรือเอสเอ็มอี รวมถึงลูกค้ารายย่อย ปัจจุบันยังไม่ได้น่ากังวลใจมากนัก
“แบงก์มีความคาดหวังว่าสัดส่วนหนี้ NPF จะสามารถปรับลดลงได้ โดยในปีนี้น่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 10% อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาจะมีกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนไม่สามารถลดได้ทันที อย่างไรก็ดี เรามีการเร่งรัดรายการเก่า ๆ ได้ตามแผน โดยการลด NPF เป็นการให้ลูกหนี้เดินเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมายให้ได้ หากเราสามารถพาเขาเข้าช่องทางเดินนี้ได้ เราก็สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งโดยรวมถือว่าการแก้ปัญหาดีขึ้น”
ส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่ ก็ต้องเติบโตแบบระมัดระวัง เลือกกลุ่มและเซ็กเตอร์ในการปล่อยสินเชื่อ โดยมองเรื่องคุณภาพสินเชื่อเป็นหลัก ไม่เร่งการเติบโตจนมองข้ามความเสี่ยง ซึ่งจะต้องอยู่บนพื้นฐานการบริหารจัดการสินทรัพย์และความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
“ปีนี้จะเป็นปีที่แข็งแรงขึ้นสำหรับไอแบงก์ และมีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น รวมถึงกำไรที่เหมาะสม” ผู้จัดการไอแบงก์กล่าว