KTB จ่อโละหนี้เน่าทะลุหมื่นล้าน หวังคุมเอ็นพีแอลสิ้นปี’61 ไม่เกิน 4.19%

แบงก์กรุงไทยเล็งโละหนี้เสียขายกว่าหมื่นล้านบาท หวังคุมเอ็นพีแอลให้อยู่เท่าปีก่อน 4.19% “ผยง” เด้งรับนโยบายฟูมฟักเอสเอ็มอี ขณะที่ปัญหาหนี้เสียรายใหญ่ตกชั้นเพิ่มใน “กลุ่มโรงสีข้าว” ปักธงสิ้นปีนี้ มูลหนี้เอ็นพีแอลคุมไม่เกิน 9.8 หมื่นล้านบาท

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในปี 2561 นี้ ธนาคารมีแผนจะขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มูลค่าเกินกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งหากสามารถขายได้ในระดับราคาที่เป็นธรรมหรือราคาเหมาะสม จะส่งผลให้ธนาคารสามารถลดเอ็นพีแอลได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายควบคุมเอ็นพีแอลปีนี้ไม่ให้เกิน 4.19%

“ปีนี้เรากำลังพิจารณาจะนำหนี้ส่วนหนึ่งออกมาขาย ซึ่งเมื่อปีก่อนเราก็มีแผนจะขายหนี้ออกมาเพื่อบริหารเอ็นพีแอล แต่ว่าตลาดไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากมีสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้นำหนี้ออกมาขายจำนวนมากเช่นกัน เราจึงไม่ได้ขาย เพราะเราไม่ขายหมูอยู่แล้วหากราคาไม่ได้” นายผยงกล่าว

นายผยงกล่าวเพิ่มด้วยว่า ปีนี้ธนาคารมีแนวโน้มตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นกว่าปี 2560 ที่สำรองหนี้เกือบ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากทั้งการตั้งสำรองหนี้ตามปกติและการตั้งสำรองตามข้อกำหนดของการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ที่เริ่มต้นปี 2562 ด้วย ซึ่งเกณฑ์กำหนดให้ตั้งสำรองส่วนเพิ่มกับสินเชื่อที่มีความเสี่ยงด้วย แม้ว่าสินเชื่อดังกล่าวจะยังไม่เป็นเอ็นพีแอลก็ตาม

“การตั้งสำรองปีนี้คร่าว ๆ คือ ตั้งสำรองปกติเดือนละ 1 พันล้านบาท และตั้งสำรองพิเศษอีกไตรมาสละ 3 พันล้านบาท รวม ๆ ก็ 2.4 หมื่นล้านบาทแล้ว” นายผยงกล่าว

สำหรับกรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมธนาคารกรุงไทยครบรอบ 52 ปี และได้มอบนโยบายให้ธนาคารกรุงไทยเป็นฐานสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายภาครัฐและการร่วมพัฒนาเพื่อผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโต ซึ่งไม่ใช่เพียงด้านการปล่อยสินเชื่ออย่างเดียว

นายผยงกล่าวว่า ตนได้รับนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนของการพัฒนาภาคธุรกิจเอสเอ็มอีจนถึงการให้สินเชื่อมากขึ้น ซึ่งปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอีอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท

ด้านนายปริญญา พัฒนภักดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงานปรับโครงสร้างหนี้และบริหารทรัพย์สิน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า หนี้เสียในกลุ่มรายใหญ่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา นอกจากลูกหนี้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ที่มีปัญหาหนี้เสียแล้ว ยังพบว่ามีผู้ประกอบการโรงสีข้าวอีกกลุ่มที่มีปัญหาหนี้เสีย ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาข้าวตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา

“หนี้ตัวใหญ่ ๆ ส่วนใหญ่ก็แก้ (ปรับโครงสร้างหนี้) หมดแล้ว มีแต่ที่ตกชั้นเพิ่มมาปีกว่า ๆ นี้ คือกลุ่มโรงสีข้าวที่ต้องแก้กันต่อไป แต่ปีนี้นโยบายของธนาคาร คือต้องรักษาหนี้เอ็นพีแอลไม่ให้เกินระดับ 9.8 หมื่นล้านบาท” นายปริญญากล่าว

พร้อมกันนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างเตรียมตัดขายหนี้เสียในพอร์ตหลักพันล้านบาท ซึ่งมีทั้งหนี้เสียจากกลุ่มธุรกิจรายใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มโรงสีที่มียอดขายเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป และกลุ่มลูกหนี้เอสเอ็มอี