MFC เร่งเครื่องออมสิน บายพาสยอดขายปั๊มขึ้นท็อป 5

ปีนี้เป็นอีกปีที่ บลจ.เอ็มเอฟซี ที่มีอายุ 42 ปี ประกาศตั้งหลักรุกอีกระลอก เพราะหวังขยับขยายธุรกิจจัดการกองทุน ให้ขึ้นมาติดอันดับท็อปไฟฟ์ โดยเฉพาะการร่วมทำงานเชิงรุกกับแบงก์ออมสิน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ซึ่งแม่ทัพหญิง “ประภา ปูรณโชติ” กรรมการผู้จัดการแห่ง บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) นำทีมผู้บริหาร ฉายภาพแผนธุรกิจเดินหน้าไปสู่เป้าหมายต่าง ๆ ที่ตั้งไว้ในปีนี้

“ประภา” ประกาศว่า ภายในสิ้นปี 2561 นี้ จะเห็นเอ็มเอฟซีมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนทั้งหมดอยู่ที่ 520,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.3% จากสิ้นปี 2560 ที่ทำได้ 454,900 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าเพิ่มขึ้นมาราว 65,000 ล้านบาท และจะรักษาระดับรายได้ไว้ที่ 1,313 ล้านบาท โดยกลยุทธ์หลักที่จะสนับสนุนให้ไปถึงเป้าหมาย คือ การพัฒนาเทคโนโลยี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การปรับปรุงโมบายแอป เลือกน้ำหนักลงทุน อย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เปิดให้เพิ่มลงทุนหุ้นได้มากถึง 100% จากเดิม 50% เป็นต้น หรือกลุ่มวัยเกษียณหรือยังไม่ถึงเกษียณก็สามารถลงทุนหุ้นได้มากขึ้น เป็นต้น และที่สำคัญ ปีนี้จะทำงานเชิงรุกกับออมสินซึ่งเป็นตัวแทน (เอเย่นต์) โดยบริษัทจะมีทีมเข้าไปอบรมให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ออมสินจะเลือกกองทุนที่เน้นความเสี่ยงต่ำเหมาะกับลูกค้า นอกจากนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพของสาขาที่มีอยู่ 9 สาขาครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคเพื่อให้ขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้น

“เราเห็นว่าต่างจังหวัดคนมีความรู้การลงทุนมากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะสาขาเชียงใหม่ ที่ได้ขยายพื้นที่สาขาในตัวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราก็จะมีการอบรมให้ความรู้การวางแผนทางการเงินแก่เขาเพื่อให้เขาจดจำเอ็มเอฟซี เวลาซื้อกองทุนก็จะมาหาเราแทนที่จะเดินไปแบงก์”

กรรมการผู้จัดการ กล่าวอีกว่า บริษัทยังได้ปรับโครงสร้างสายงานใหม่ โดยฝ่ายตราสารหนี้จะมี 4 ฝ่าย จำนวน 8 ผู้จัดการกองทุน และฝั่งตราสารทุน 6 ฝ่าย จำนวน 16 ผู้จัดการกองทุน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุน ซึ่งปีที่แล้วบริษัทได้จ่ายเงินปันผล 40 กองทุน รวมเป็นเงินกว่า 1,233 ล้านบาท อีกทั้งยังสร้าง strategic partners ในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาธุรกิจและประสิทธิภาพการบริหารกองทุน ซึ่งจะทำให้บริษัทเติบโตและมีรายได้ที่ยั่งยืน

ส่วนแผนเปิดขายกองทุนใหม่ในปีนี้ “ณัฐวุฒิ ธรรมจารี” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมการเงินสายการขายและการตลาด กล่าวว่า ปีนี้จะออกกองทุนรวมใหม่อีก 29 กองทุน แบ่งเป็นกองทุน Term Fund (กำหนดอายุโครงการ) จำนวน 12 กอง, Target Fund (กองทุนที่กำหนดเป้าหมายผลตอบแทน) และ 3.กองทุนลงทุนหุ้น 17 กอง มูลค่ารวมประมาณ 15,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีแผนออกกองทุนส่วนบุคคล 10 กอง มูลค่าราว 10,000 ล้านบาท และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า (REIT) อีก 2 กอง มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท รวมถึงกองทุน Thailand Future Fund (TFF) มูลค่า 22,500 ล้านบาท ร่วมบริหารกับ บลจ.กรุงไทย (KTAM) มูลค่ารวมกว่า 50,000 ล้านบาท โดยได้จดทะเบียนที่ 1,000 ล้านบาท

แน่นอนว่ายอดขายในปีนี้จะเติบโตได้ดีต่อเนื่อง จากการทำงานร่วมกับ “ธนาคารออมสิน” เข้มข้น โดย “กิตติคม สุทธิวงค์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่าย Private Wealth เปิดเผยว่า ขณะนี้เราได้เข้าไปอบรมให้กับพนักงานแบงก์ออมสินมีใบอนุญาตขายกองทุนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานแบงก์ทั้งสิ้น 1,500 คน ใน 18 ภาคทั่วประเทศ ครอบคลุมกว่า 1,000 สาขา ในการแนะนำลูกค้าที่มั่งคั่ง (เวลท์) ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งตอนนี้มีพนักงานทำงานแอ็กทีฟแล้วราว 30% และคาดว่าในปีนี้จะปั้นยอดขายได้ราว 5-6 พันล้านบาท นอกเหนือจากโบรกเกอร์รายอื่น ๆ ที่ทำยอดขายรวมกันได้เกือบ 10,000 ล้านบาท

สำหรับเทรนด์การลงทุนในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ “ชาคริต พืชพันธ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายบริหารกองทุน กล่าวว่า จะพลิกไปลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศมากขึ้น เพราะว่าตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวดีต่อเนื่อง โดยให้น้ำหนักในทวีปละตินอเมริกาและสหรัฐ เพราะว่ามีหลายบริษัทที่มีศักยภาพสูง และสนใจตลาดเกิดใหม่ (emerging market) ในเอเชียด้วย รวมถึงญี่ปุ่นและจีนมีกำลังซื้อภายในประเทศค่อนข้างสูง ล่าสุดจึงได้ออก

“กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โกรท อินเวสเมนท์ 5 อีเอ็ม 1 (GI5EM1)” เสนอขายช่วงนี้เริ่มวันที่ 14-27 มี.ค. 61ส่วนทิศทางตลาดหุ้นไทยในปีนี้ ประเมินว่าดัชนีช่วงปลายปีอยู่ที่ระดับ 1,870 จุด โดยมองกรอบล่างต่ำสุดที่ระดับ 1,700 จุด ภายใต้กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ที่ 111.50 บาทต่อหุ้น และค่า P/E ตลาดอยู่ที่ 16.75 เท่า ซึ่งกลุ่มที่น่าสนใจลงทุน ได้แก่ หุ้นปันผลสูง ผลประกอบการดี เช่น ท่องเที่ยว, สื่อสาร, โทรคมนาคม เป็นต้น ส่วน “กลุ่มพลังงาน” ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น น่าจะขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยต่อได้ และอีกกลุ่ม “ธนาคาร” เนื่องจากหากเกิดการลงทุนภาคเอกชนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก็จะช่วยหนุนการปล่อยสินเชื่อได้ดีขึ้น แต่หุ้นกลุ่มแบงก์คงปรับขึ้นสูงไม่ได้มากนัก ส่วนปัจจัยที่ต้องระวังของตลาดหุ้นคือ แม้การส่งออกไทยขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่อาจจะต้องระมัดระวังสงครามการค้าโลกของจีนและสหรัฐ อาจจะส่งผลกระทบได้

ส่วนเทรนด์ตราสารหนี้ “พัณณรัชต์ บรรพโต” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสบริหารกองทุน มองว่า จากที่ธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง แต่ขณะนี้มีการมองว่าจะปรับขึ้นถึง 4 ครั้งในปีนี้ ซึ่งหากไทยยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% จะทำให้เกิดส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐกับไทย ก็จะกว้างมากขึ้น

“ตราสารหนี้ต่างประเทศยังคงจะได้รับความสนใจมากกว่า เพราะว่าได้รับปัจจัยหลักจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งต้นปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นราว 2% ก็จะทำให้มีกำไรส่วนนี้ด้วย”

ทั้งนี้ ผลตอบแทนของตราสารหนี้โลกอยู่ที่ 3-4% ซึ่งหากนักลงทุนรับความเสี่ยงเรื่องความผันผวนระหว่างทางได้ ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง ขณะที่ตราสารหนี้ไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 1.3-1.5% ซึ่งคาดว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ

เหลือเวลาอีก 9 เดือน สำหรับเอ็มเอฟซี จะเข็นผลงานให้ได้ตามฝัน