“ตลาดกระทิง เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา เพราะตลาดหุ้นจะกระทิงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจเป็นสำคัญด้วย”
ข้างต้นนี้เป็นคำกล่าวจั่วหัวของ “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้ จํากัดกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ในการบรรยายพิเศษในงานสัมมนา “Thailand : Takeoff ฉากทัศน์ใหม่ประเทศไทย” จัดโดย “มติชน” เมื่อ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา
หุ้นโลก “กระทิง” รอบใหม่
“ไพบูลย์” กล่าวว่า หุ้นกระทิงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับทั่วโลกที่ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะกระทิงมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยตลาดที่ดีมาก ๆ ก็คือสหรัฐ และเป็นตัวนำตลาดหุ้นโลกกลับสู่โหมดกระทิงอีกรอบ ซึ่งรอบนี้จะนำด้วยเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยที่ใกล้จบ และเรื่องหุ้นเทคโนโลยี โดยตลาดหุ้นสหรัฐวันนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับตลาดหุ้นไทยถึง 10 ตลาด
โดยหุ้นตัวเดียวของสหรัฐอย่าง NVIDIA ที่ทำเกี่ยวกับการผลิตชิปและซีพียูปรับตัวขึ้นไปแล้ว 200% ในช่วง 6 เดือนและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแล้ว 6 แสนล้านเหรียญในปีนี้ เท่ากับตลาดหุ้นไทยทั้งตลาด หรือเท่ากับ GDP ของไทยทั้งประเทศ
“ของเขาขึ้น แค่ใน 6 เดือน มูลค่ามหาศาล คือสหรัฐรู้อยู่แล้วว่าการสร้างตลาดทุนให้มีมูลค่าสูงเป็นการช่วยเศรษฐกิจทางอ้อม เกิดการใช้จ่าย ทำให้คนมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนเขาอยู่ในตลาดทุนเยอะ มีทั้งที่ลงทุนเองที่ซื้อกองทุนหลายอย่าง ๆ หรือเงินเกษียณต่าง ๆ อยู่ในตลาดทุนทั้งหมด เพราะฉะนั้นสหรัฐจะบริหารตลาดทุน เพื่อทำให้ตลาดทุนเป็นแหล่งของการสร้างกำลังซื้อเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยเราไม่ได้มองตรงนี้เลย”
ไทยยังอยู่ภาวะตลาด “หมี”
ด้านตลาดหุ้นไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ตลาดที่ดัชนียังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่ 11% เพราะเป็นตลาดที่ไม่แข็งแรงและตกใจง่าย โดยเวลาขึ้นก็ปรับตัวขึ้นน้อยกว่า ดูได้จากหุ้น NASDAQ ของสหรัฐที่ปรับขึ้นไปถึง 140% ในช่วงตลาดกระทิง โดยตลาดหุ้นโลกขึ้นเฉลี่ย 100% ตลาดหุ้นสหรัฐขึ้น 120% ส่วนตลาดหุ้นไทยขึ้นยังไม่ถึง 80%
“ตอนนี้ต่างประเทศเขาไปตลาดกระทิงกันอีกรอบแล้ว แต่ตลาดหุ้นไทยยังเป็นตลาดหมีอยู่ ซึ่งเหตุผลที่ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะตลาดหมี ก็เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า”
เศรษฐกิจฟื้นช้า-หุ้นไทยไร้เสน่ห์
ทั้งนี้ อัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในช่วงโควิด ปี 2563-2565 เศรษฐกิจไทยติดลบลงไป 6% และบวกขึ้นมาได้ 4% แสดงว่าตลาดหุ้นไทยยังติดลบอยู่ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐในช่วงโควิดติดลบลงไป 2.8% และปรับตัวบวกขึ้นมาในปีถัดมาถึง 6% อีกในหลาย ๆ ประเทศก็เป็นแบบนี้
โดยเฉพาะในอาเซียน อย่างอินโดนีเซียที่เติบโตถึง 5-6% ต่อปีตลอด และนิ่งมาก ๆ ช่วงโควิดตลาดหุ้นอินโดฯ ลดลงไป 2.07% แต่ในปีถัดไปก็กลับขึ้นมาที่ 3.7% รวมถึงเวียดนามก็เติบโต 7-8% ต่อปี และที่สำคัญในช่วงโควิดเศรษฐกิจเวียดนามไม่ติดลบ แล้วพอหลังจากโควิดเศรษฐกิจก็พุ่งถึง 8%
“แต่ตลาดหุ้นไทยกลับเป็นตลาดที่ปรับตัวลงเยอะ แต่ปรับตัวขึ้นได้น้อย นี่คือปัญหา”
ตั้งรัฐบาลไม่จบ-ต่างชาติเทขาย
โดยปัญหาของตลาดหุ้นไทยคือ ไม่มีจุดขายเป็นของตัวเอง ทำให้ต้องไปเอาจุดขายของคนอื่นมา แต่ก็ไม่สามารถจะควบคุมได้ อย่างเรื่องการท่องเที่ยวที่เป็นจุดขายหลัก ก็ยังติดอุปสรรคอยู่อีกหลายด้าน เพราะไม่ได้วางแผนระยะยาว ขณะที่การส่งออกก็ติดลบ 7 เดือนติดต่อกัน และยังไม่เห็นทิศทางที่จะปรับขึ้นมาได้ ด้านกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ก็ยังอยู่ในขาลง ทำให้ยิ่งไม่มีความน่าสนใจ
“ยิ่งเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลก็ยังจัดตั้งไม่ได้ เงินทุนต่างชาติก็เลยยังทยอยไหลออก ซึ่งหากนับตั้งแต่ต้นปี เงินทุนไหลออกไปเเล้วกว่า 1 แสนล้านบาท และถ้าหลาย ๆ เรื่องยังไม่ดีขึ้น ก็มีโอกาสที่จะไหลออกได้ต่อ เพราะขายมันง่ายกว่าซื้อ ซึ่งหากหยุดการไหลออกได้ ตลาดก็จะกลายเป็นกระทิงได้”
สร้างจุดขายใหม่ให้ตลาดหุ้นไทย
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยรีบราวนด์ได้ แต่เป็นระยะสั้น สิ่งสำคัญคือจะทำยังไงให้มีจุดขายในระยะยาว เพราะฉะนั้น หากจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วและนโยบายดี หรือนโยบายเป็นมิตรกับภาคธุรกิจ ไม่ใช่นโยบายที่เป็นศัตรูกับภาคธุรกิจ ก็จะสร้างความมั่นใจได้ และตอนนี้ราคาหุ้นไทยไม่ได้แพง ปัญหาคือจุดขายคืออะไร โดยตลาดหุ้นไทยขายสตอรี่ระยะสั้นมาตลอด 10 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก ๆ ว่าเมื่อไหร่จะมีสตอรี่ระยะยาว ๆ
“ไพบูลย์” ชี้ว่าตลาดหุ้นไทยจะต้องสร้างจุดขายใหม่ โดยโจทย์ใหญ่ต้องดูว่าจะต้องการเป็นแค่เพียงหลุมหลบภัย เป็นแค่เทรดดิ้งมาร์เก็ต หรือว่าต้องการที่จะปรับ ซึ่งหากต้องการปรับ รัฐบาลมีส่วนสำคัญ และ รัฐบาลต้องใช้ตลาดทุนให้มาก อย่ามองตลาดทุนเป็นศัตรู ต้องมองผู้ลงทุนว่าเป็นผู้ที่เข้ามาสร้างตลาดทุน สร้างสภาพคล่อง
“วันนี้ ถ้ารัฐบาลออกมาตรการต่าง ๆที่ไม่เป็นมิตร นักลงทุนก็จะออกไปเลย นักทุนต่างชาติวันนี้ซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นไทยอยู่ประมาณ 50% เพราะฉะนั้น ถ้าทำนโยบายที่นักลงทุนไม่เห็นด้วยก็จะไปเลย ซึ่งวันนี้เขาช่วยสร้างสภาพคล่องให้คุณอยู่ เรายังมีหน้ามีตายืนอยู่ในอาเซียน ที่ทำให้เราพูดได้ว่าเรามีสภาพคล่องอันดับ 1 ในอาเซียน ครึ่งหนึ่งมาจากนักลงทุนต่างชาติ ก็อย่าไปหลงดีใจ เพราะมันสะท้อนว่าเราเป็นตลาดที่ไม่มีเทรนด์ แต่เป็นตลาดระยะสั้น (short term) ถ้าจะให้เป็นตลาดระยะยาว (long term) ก็ต้องเปลี่ยนความคิด”
เบรกนโยบายกระทบสภาพคล่อง
นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนย้ำว่า อยากจะบอกผู้ที่ทำนโยบาย ว่าอย่าเพิ่งทำนโยบายอะไรก็ตามที่จะกระทบต่อสภาพคล่อง เพราะสภาพคล่องอ่อนไหวมาก และขอให้มองนักลงทุนเป็นคนที่มาช่วยสภาพคล่อง ช่วยแบกรับความเสี่ยงของภาคธุรกิจ ช่วยกันสร้างตลาดทุน
“ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสจะกลับไปเป็นกระทิงไหม คิดว่ามีโอกาส แต่ไม่ง่าย ซึ่งตลาดกระทิงของผม หมายถึงกระทิงระยะยาว ส่วนชั่วคราวเราก็เป็นมาตลอด 10 ปี ทุกคนก็กำไร ขาดทุน แต่เราจะให้เป็นแบบนี้ตลอดไปหรือ และประเทศเราจะได้ประโยชน์มาก ๆ ถ้าเราใช้ประโยชน์จากตลาดทุนให้เต็มที่ วันนี้ผมเชื่อว่าเราใช้ประโยชน์จากตลาดทุนแค่เพียง 20-30% เท่านั้นเองของศักยภาพของตลาดทุนที่มีอยู่”