ธปท.คึกซุ่มคลอด “คริปโทบาท” ชูโอนเงินระหว่างแบงก์ผ่านบล็อกเชน

ธปท.ซุ่มศึกษา 2 โครงการ “เงินดิจิทัล-ออกพันธบัตร” ผ่านบล็อกเชน ชี้ “โทเคนสกุลเงินบาท” เอื้อการโอนเงินระหว่างแบงก์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้านการออกพันธบัตรทำได้เร็วขึ้นใน 2 วัน ฟากสมาคมธนาคารไทย ผนึก 14 แบงก์และ 7 ธุรกิจรายใหญ่ สร้างชุมชนบล็อกเชนให้บริการออกหนังสือค้ำประกัน คาดเริ่มไตรมาส 3/61

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Bangkok Fintech Fair 2018 จัดขึ้นครั้งแรกของ ธปท. ว่า ธปท.อยู่ระหว่างการศึกษา “โครงการอินทนนท์” ซึ่งจะเป็นการออกเหรียญดิจิทัลเป็นสกุลเงินบาท (คริปโทบาท) เพื่อนำมาใช้ในการโอนเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ ธปท.กำลังศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสม ร่วมกับธนาคารทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 5 แห่ง

โดยการที่ ธปท.หันมาศึกษา “ดิจิทัลเคอเรนซี” ในครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมพร้อมการรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลก ที่ได้มีการศึกษานำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้เพื่อการโอนเงินเช่นเดียวกัน แต่ในต่างประเทศก็ยังไม่ได้นำออกมาใช้ในเวลานี้ เพราะยังมีหลายมิติที่เกี่ยวข้องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อน

“ขอย้ำว่า โครงการนี้เป็นโครงการศึกษาที่อยู่ระหว่าง approve concept ซึ่งเป็นดิจิทัลเคอเรนซีที่ออกโดยธนาคารกลาง และใช้ในระบบชำระเงินของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ไม่ใช่สำหรับประชาชนทั่วไป ส่วนอนาคตก็เปิดให้มีการเชื่อมต่อกับประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย ซึ่งรูปแบบนี้เหมือนเรามีโทเคนที่เป็นเงินบาท ประเทศอื่น ๆ ก็อาจมีโทเคน เป็นสิงคโปร์ดอลลาร์ ก็เอามาเชื่อมต่อกัน” นายวิรไทกล่าว

นายวิรไทกล่าวเพิ่มอีกว่า ธปท.ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการที่จะนำบล็อกเชนมาใช้ในการออกพันธบัตร ซึ่งจะทำให้นักลงทุนได้พันธบัตรรวดเร็วขึ้นในเวลา 2 วันทำการ จากปัจจุบันใช้ระยะเวลาดำเนินการ 15 วัน ซึ่งทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการที่ทำผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน

นอกจากนี้ ธปท.ยังได้เล็งเห็นประโยชน์ในการนำเทคโนโลยีทางการเงินใหม่มาใช้ใน 3 มิติด้วยกัน คือ 1.ช่วยยกระดับผลิตภาพให้แก่ทั้งประชาชน และภาคเศรษฐกิจของไทย ที่ทำให้มีต้นทุนถูกลง 2.ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ที่มีเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่ช่วยลดความสูญเสีย และช่วยป้องกันมิจฉาชีพทางการเงินได้มากขึ้น และ 3.ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลาย แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสในรายได้และทรัพย์สิน

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ล่าสุดมีความร่วมมือในโครงการ Thailand Blockchain Community Initiative หรือ การสร้างชุมชน blockchain เกิดจากความร่วมมือของ 14 ธนาคาร และธุรกิจขนาดใหญ่ 7 แห่ง โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 3/2561 จะเปิดให้บริการหนังสือค้ำประกัน (L/G) อิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชนได้ทั่วไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการดังกล่าว ยังอยู่ระหว่างการทดสอบภายใต้การกำกับ (regulatory sandbox) ของ ธปท.รวมถึงการหารือระหว่างหน่วยงานเพื่อหารูปแบบ และกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้งาน อย่างไรก็ตามการทำ L/G ผ่านบล็อกเชนจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มความปลอดภัยได้ชัดเจน

“ปัจจุบันการออก L/G บนกระดาษ จะมีกระบวนการมากมาย เช่น ลูกค้าวิ่งมาขอ L/G ที่แบงก์ จะต้องรอข้ามวัน และให้เมสเซนเจอร์มารับกระดาษ L/G มาส่งที่บริษัทที่จะค้ำประกัน แล้วต้องรอฝั่งบริษัทส่งกลับมาอีก ซึ่งถ้าเปลี่ยนขั้นตอนทั้งหมดเป็นดิจิทัลได้ ก็จะลดเวลาและต้นทุนของทุกฝ่าย รวมถึงธนาคารไปด้วย เราถือเป็นรายแรกในโลก ที่มีความร่วมมือและมีโครงการบล็อกเชนแบบนี้ ซึ่งยังสามารถพัฒนาไปใช้กับบริการอื่น ๆ ได้อีกเยอะ” นายปรีดีกล่าว