2 แบงก์รัฐโหมออกหุ้นกู้กวาดเงินในระบบ 8 หมื่นล้าน

2 แบงก์รัฐหันออกหุ้นกู้ลดต้นทุน ธพว.เตรียมวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท อายุ 3-7 ปี ทยอยขายครึ่งปีหลัง นำเงินไปใช้ปล่อยกู้ระยะยาว แก้ปัญหารับเงินฝากสั้น-ปล่อยกู้ยาว ออมสินขายหุ้นกู้ 5 หมื่นล้าน ตุนในครึ่งปีแรก ปล่อยซอฟต์โลน 1.7 แสนล้าน รับนโยบายบายรัฐ ชี้ต้นทุนต่ำกว่าสลากออมสิน

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารกำลังหาช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อออกหุ้นกู้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยขณะนี้คณะกรรมการธนาคารได้อนุมัติวงเงินออกหุ้นกู้ 30,000 ล้านบาท โดยจะออกเป็นหุ้นกู้ที่มีเรตติ้ง โดยเรตติ้งของเอสเอ็มอีแบงก์อยู่ที่ A ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคาดว่าจะกำหนดอายุหุ้นกู้อยู่ที่ระหว่าง 3-7 ปี เนื่องจากจะสามารถนับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 (เทียร์ 1) อยู่

“เราจะระดมทุน โดยออกหุ้นกู้แต่ต้องดูจังหวะเวลาให้ดี และถ้าระดมก็จะไม่เกิน 7 ปี เพราะถ้าอายุหุ้นกู้เกิน 7 ปี จะถูกนับเป็นเทียร์ 2 เงินที่ได้ก็จะนำมาแมตชิ่งกับเงินกู้ระยะยาวของธนาคาร เนื่องจากปัจจุบันเงินฝากเราสูงสุดอยู่เฉลี่ยแค่ไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น คือ 30% เป็นเงินฝากไม่เกิน 2 ปี และอีก 70% เป็นเงินฝากไม่ถึง 1 ปี ทำให้ไม่แมตช์กับการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นถ้ามีหุ้นกู้ 3-7 ปีออกมาก็จะแมตช์กันได้”

นายมงคลกล่าวอีกว่า เนื่องจากเอสเอ็มอีแบงก์ ไม่ได้รับฝากเงินจากประชาชน แต่จะรับฝากเงินจากรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานรัฐเป็นหลัก โดยต้นทุนเงินฝากของธนาคารเฉลี่ยอยู่ที่ 1.7% ถือว่าใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมแล้วจากก่อนหน้านี้จะสูงกว่าอุตสาหกรรม ขณะที่ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารอยู่ที่ 3.7% เนื่องจากที่ผ่านมาสามารถแก้ปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไปได้มาก อย่างไรก็ดี ธนาคารคิดดอกเบี้ยเงินกู้จากลูกค้าเฉลี่ยที่ประมาณ 5.8% เท่านั้น ถือว่าต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ที่จะคิดดอกเบี้ยเอสเอ็มกว่า 9% นอกจากนี้ เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ของธนาคารอยู่ที่ประมาณ 12% และสามารถตีมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2 ได้อีกประมาณกว่า 500 ล้านบาท จึงถือว่ามีความเข้มแข็งขึ้นมาก

“ต้นทุนของเราวันนี้ถือว่าเข้มแข็งมาก ต้นทุนเฉลี่ยใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมแล้ว จากเมื่อก่อนสูงกว่าอุตสาหกรรม ส่วน NIM ที่อยู่ที่ 3.7% เพราะเราแก้เอ็นพีแอลและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก” นายมงคลกล่าว

ขณะที่นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การออกหุ้นกู้ถือว่าเป็นทางเลือกในการระดมทุนที่ดี โดยเฉพาะช่วงแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะมีต้นทุนต่ำกว่าการออกสลากออมสิน โดยในปี 2560 นี้ ธนาคารมีการออกหุ้นกู้จำนวน 50,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.36% ต่อปี ซึ่งจำหน่ายหมด

ไปแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี ส่วนในครึ่งปีหลังยังไม่มีความจำเป็นต้องออกเพิ่มเติม เนื่องจากขณะนี้สภาพคล่องของธนาคารเพิ่มเป็น 3-4 แสนล้านบาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม การออกหุ้นกู้ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในการเพิ่มช่องทางการระดมเงินของธนาคาร จากในอดีตที่เป็นผลิตภัณฑ์ด้านเงินฝากแต่เพียงอย่างเดียว แต่อนาคตธนาคารจะมีช่องทางระดมเงินที่หลากหลาย สามารถบริหารความเสี่ยงและต้นทุนในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม

“ตอนต้นปีธนาคารออกหุ้นกู้รวม 50,000 ล้านบาท ซึ่งขายหมดแล้ว เป็นการออกเพื่อจับคู่กับการปล่อยกู้ในโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน วงเงินรวม 170,000 ล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยรับเป็นแบบคงที่” นายชาติชายกล่าว

ด้านฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธนาคารไม่สามารถออกหุ้นกู้ได้ เนื่องจากกฎหมายจัดตั้งธนาคารไม่อนุญาตให้ออกหุ้นกู้