ไอร่า แฟคตอริ่ง วางเป้า 3 ปีผู้นำตลาด ยอดคงค้าง 3 พันล้าน รุกออนไลน์ Q3/66

ไอร่า แฟคตอริ่ง

บริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง หรือ AF ประเมินสินเชื่อแฟกตอริ่งโตพุ่ง 5% จากมูลค่าตลาด 2 แสนล้านบาท ชี้แบงก์-น็อนแบงก์แข่งเดือดชิงเค้ก ตั้งเป้า 3 ปีขอขึ้นแท่นอันดับ 1 ยอดคงค้างแตะ 3 พันล้านบาท เผยแผนธุรกิจปีนี้ ตั้งเป้าปล่อยกู้ 2.25 หมื่นล้านบาท จ่อให้บริการสินเชื่อผ่านออนไลน์ไตรมาส 3/66 คาดปีแรกโกยยอด 40 ล้านบาท หนี้เสียทรงตัว 4%

วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 นายอัครวิทย์ สุกใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AF ผู้นำด้านการให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจสินเชื่อแฟกตอริ่งมีทิศทางขยายตัวมากขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5% กลับมาขยายตัวเทียบเท่าช่วงโควิด-19 จากปริมาณธุรกรรมการค้าที่เติบโตเพิ่มขึ้น

อัครวิทย์ สุกใส
อัครวิทย์ สุกใส

ทั้งนี้ ปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมสินเชื่อแฟกตอริ่งอยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท โดยในส่วนของบริษัทอยู่ในอันดับ 3 (รวมผู้เล่นธนาคาร) แต่หากไม่รวมธนาคารจะอยู่อันดับ 2 โดยพอร์ตอันดับ 1 จะมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท และอันดับ 2 พอร์ตอยู่ที่ราว 3 หมื่นล้านบาท

               

ดังนั้น จากแนวโน้มความต้องการสินเชื่อแฟกตอริ่งที่ยังขยายตัวสูง บริษัทตั้งเป้าภายใน 3 ปี (2567-2569) จะขึ้นเป็นผู้เล่นอันดับ 1 (ไม่รวมธนาคาร) โดยมูลค่าพอร์ตสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาท เนื่องจากการแข่งขันไม่สามารถแข่งขันกับผู้เล่นที่เป็นธนาคารได้ แต่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ได้

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 22,500 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 25% จากปีก่อนอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปีสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท เติบโต 11% คาดว่าภายในสิ้นปีจะมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2,300 ล้านบาท โดยวงเงินสินเชื่อจะเป็นการปล่อยฐานลูกค้าเดิมราว 90% และลูกค้าใหม่ 10% ซึ่งในแต่ละปีจะมียอดลูกค้าใหม่เข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 100 รายต่อปี จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการสม่ำเสมอ (Active) รวม 500-600 ราย

อย่างไรก็ดี กลุ่มเป้าหมายลูกค้ายังคงเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มียอดขาย 10-50 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีอยู่ 5 กลุ่มหลัก แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนและความเชื่อมั่นลดลง แต่จะไม่กระทบกลุ่มเหล่านี้ ได้แก่ 1.เกี่ยวกับการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ โรงพยาบาล และเวชภัณฑ์ 2.ส่วนประกอบอีวี 3.ธุรกิจที่มีการตั้งฐานการผลิต 4.อาหารและเครื่องดื่ม และ 5.ค้าปลีกซื้อขายระยะสั้น เป็นต้น

และเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง บริษัทจะกำหนดการกระจายตัวของพอร์ตสินเชื่อ โดยปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 20% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 4% โดยวิธีการบริหารจัดการคล้ายสถาบันการเงิน ซึ่งหากลูกค้าเริ่มมีสัญญาณชำระไม่ไหวจะมีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ยืดอายุชำระหนี้ หรือรวมไปถึงกรณีการตัดหนี้สูญ เป็นต้น

“ตอนนี้สินเชื่อที่อยู่ในมือรอการอนุมัติราว 400 ล้านบาท เป็นลูกค้าใหม่ 200 ล้านบาท และลูกค้าเก่าอีก 200 ล้านบาท คิดว่าน่าจะทำได้ตามเป้าหมาย หนี้เสียเองค่อนข้างเสถียร เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อเราก็ดูประวัติการชำระหนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ยอดการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) สูงถึง 95% และปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) อยู่ที่ราว 5% ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะเอกสารไม่ครบ ขาดหลักประกัน เป็นต้น”

นายอัครวิทย์กล่าวต่อไปอีกว่า เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทได้ลงทุน 20 ล้านบาทต่อปี เพื่อพัฒนาระบบไอที ภายใต้แผนธุรกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยมุ่งเน้นการยกระดับการให้บริการของบริษัทเป็นรูปแบบดิจิทัลทั้งหมดตั้งแต่การสมัคร การพิจารณาสินเชื่อ และการให้บริการ รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนความต้องการทางด้านการเงินให้ลูกค้าอย่างครบวงจร เพื่อมุ่งสร้างความยั่งยืน โดยตั้งเป้าภายในไตรมาสที่ 3/2566 จะสามารถปล่อยกู้ผ่านออนไลน์ได้ ลดระยะเวลา และต้นทุน

ทั้งนี้ ตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อแฟกตอริ่งผ่านออนไลน์ปีแรกอยู่ที่ 40 ล้านบาท และภายในปี 2567 ตั้งเป้าเติบโตเพิ่มขึ้น 100% และในระยะข้างหน้ามีความสนใจในการขออนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งจะช่วยลูกค้าธุรกิจที่ยังไม่เข้าถึงบริการทางการเงินได้ แต่อาจจะต้องรอดูผู้ประกอบการ 3 รายแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุมัติในรอบแรกก่อน