ธปท.ปรับเครื่องมือกระเทาะแก่นเศรษฐกิจเชิงลึกป้อน กนง.

ธปท.ปรับเครื่องมือชี้วัด ศก.ใหม่ ป้อน กนง.วิเคราะห์เชิงลึก ดึง “บิ๊กดาต้า” หลายหน่วยงานใช้สแกนศักยภาพเศรษฐกิจไทย-ความเสี่ยงได้ทันเหตุการณ์ ประเดิมส่องเศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ ไม่พบภาวะเก็งกำไรอสังหาฯ ยอมรับเศรษฐกิจโตยังไม่กระจายทั่วถึงกลุ่มรากหญ้า

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ล่าสุด ธปท.ได้ใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าของหน่วยงานต่าง ๆ มาเป็นเครื่องชี้วัดการวิเคราะห์ศักยภาพทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่าง ๆ ได้ทันท่วงทีขึ้น ต่างจากเดิมที่เน้นใช้ข้อมูลจากหน่วยงานที่ส่งเข้ามา

สำหรับเครื่องชี้วัดใหม่ที่ ธปท.เริ่มนำมาใช้ เช่น ข้อมูลจาก google trend ซึ่งเป็นเสมือนบิ๊กดาต้าของ google ที่ช่วยให้ ธปท.สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของประชาชนได้มากขึ้น เช่น ความสนใจ ความชอบ หรือการหาพิกัดบ้าน คอนโดฯ ที่มีคนสนใจมากที่สุด แพงที่สุด ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถนำมาวิเคราะห์เศรษฐกิจได้ เช่น วิเคราะห์การเก็งกำไรคอนโดฯ หรืออสังหาริมทรัพย์แต่ละพื้นที่ ทำให้ ธปท.ต่อยอดไปถึงแนวโน้มข้างหน้าได้ว่าความเสี่ยงแต่ละจุดเป็นอย่างไร

“วิธีการใช้ google trend เราก็นำมาใช้เยอะ ให้เรามีข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น เช่น หาพิกัดบ้าน คอนโดฯ จุดไหนได้รับความนิยมมากที่สุด แล้วไปพ่วงกับข้อมูลจากบิ๊กดาต้า การใช้น้ำไฟ สาธารณูปโภคจุดนั้น ๆ ก็จะพบว่า การซื้อบ้าน คอนโดฯสถานที่นั้น ซื้อเพื่ออยู่จริง ๆ หรือซื้อเพื่อการเก็งกำไร หากพบว่าความต้องการบ้าน คอนโดฯ พิกัดนี้เยอะ แต่ค่าน้ำ ค่าไฟไม่มีเลย หรือต่ำมาก แปลว่าเกิดการเก็งกำไรเกิดขึ้นแล้ว เราก็อาจนำมาวิเคราะห์ไปถึงข้างหน้าได้ว่าความเสี่ยงมีหรือไม่ หรือเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังต่อไป”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเครื่องชี้วัดดังกล่าวจะนำมาใช้ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อให้ได้ข้อมูลในการพิจารณาภาวะเศรษฐกิจที่เป็นวงกว้างและเชิงลึกมากขึ้น

“ตอนนี้ข้อมูลจากบิ๊กดาต้า ดูแล้วยังไม่น่าห่วงเรื่องการเก็งกำไรอสังหาฯ ที่อาจนำมาสู่ฟองสบู่ในอนาคต เพราะการซื้อคอนโดฯ ส่วนใหญ่เป็นการซื้อเพื่อการอยู่จริง ไม่ได้เก็งกำไร ดังนั้น เรื่องการเก็งกำไรอสังหาฯจึงยังเป็นสิ่งที่ ธปท.เริ่มคลายความกังวลลงในขณะนี้”

นอกจากนี้ ธปท.ยังใช้ข้อมูลจากบิ๊กดาต้าอื่น ๆ เช่น ข้อมูลการโอนเงิน การชำระเงิน จากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์การใช้จ่าย การบริโภค ให้ละเอียดมากขึ้นและลึกขึ้น เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเกิดจากกลุ่มใด กลุ่มเงินเดือนสูง หรือกลุ่มเงินเดือนต่ำ การชำระเงินกลุ่มใดมีผลต่อเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่ง ธปท.ได้ใช้วิเคราะห์เศรษฐกิจช่วง 1-2 เดือนแรกของปีนี้ ผ่านการชำระเงินจากบิ๊กดาต้าพบว่า จากการบริโภคส่วนใหญ่มาจากกลุ่มที่มีรายได้สูง และกลุ่มที่มีเงินเดือน ดังนั้นการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตได้ ยังมาจากสองกลุ่มนี้เป็นหลัก สะท้อนว่าการบริโภคยังไม่ได้กระจายตัวไปสู่กลุ่มคนระดับล่าง หรือกลุ่มเกษตรกร ดังนั้นกลุ่มระดับล่างก็อาจยังไม่ได้รับผลบวกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจขณะนี้

“การทำสิ่งเหล่านี้ ก็เพื่อให้มีเครื่องมือใหม่ในการดูภาพเศรษฐกิจจริง ภายใต้ข้อมูลที่หลากหลายขึ้น” นายดอนกล่าว