สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) ก้าวสู่ปีที่ 10 มุ่งพัฒนาเป็นองค์กรดิจิทัล-เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ฝากเงิน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ประธานกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากเปิดเผยว่า “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) ก้าวสู่ปีที่ 10 ในปี 2561 มุ่งพัฒนาสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนงานตามพันธกิจ เร่งปรับกระบวนการทำงานทั้งระบบจ่ายคืนผู้ฝาก การชำระบัญชีและบริหารจัดการสินทรัพย์ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไข พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ฝากเงิน อย่างต่อเนื่อง

เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรคุ้มครองเงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัย สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงิน” โดยภาพรวมของเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินทั้งระบบยังเติบโตและอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากเศรษฐกิจไทยปี 2560 เร่งตัวขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 3.9 เป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวสูง การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 0.7 สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจ ปี 2561 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 4.2 จากการลงทุนที่จะเกิดขึ้นจากโครงการต่าง ๆ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.9 – 1.9 ตามราคาพลังงานและต้นทุนค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น

สำหรับเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินในปี 2560 สถาบันการเงินทั้งระบบมีฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 18.19 จากร้อยละ 18.04 ในปีก่อน การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสถาบันการเงินทั้งระบบเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตามเกณฑ์ Basel III อยู่ที่ร้อยละ 180.11 โดยที่สถาบันการเงินทุกแห่งมี LCR สูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดที่ร้อยละ 70 อยู่มาก ขณะที่กำไรสุทธิของสถาบันการเงินทั้งระบบ มีจำนวน 1.88 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2559 ที่ร้อยละ 5.96 เป็นผลจากค่าใช้จ่ายการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง รวมทั้งเตรียมรองรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (IFRS9) ที่จะนำมาใช้ในปี 2562

ด้านสินเชื่อของระบบสถาบันการเงินมีจำนวนทั้งสิ้น 14.75 ล้านล้านบาท (รวมสินเชื่อระหว่างธนาคาร และตลาดเงิน) เพิ่มขึ้น 1.11 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.13 จากปี 2559 โดยมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อ ให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 2.92 และเงินฝาก มีจำนวนทั้งสิ้น 13.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.09 จากปี 2559 ที่มีจำนวน 12.61 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่อยู่ในความคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีจำนวน 35 แห่ง โดยมีจำนวน ผู้ฝากเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง 74.69 ล้านราย เพิ่มขึ้น 3.76 ล้านราย หรือร้อยละ 5.30 จากปี 2559 ส่วนใหญ่เป็นผู้ฝากประเภทบุคคลธรรมดา โดยเป็นผู้ฝากที่มีวงเงินฝากไม่เกิน 15 ล้านบาท ตามวงเงินคุ้มครองที่กฎหมายกำหนด อยู่ที่ร้อยละ 99.90 และที่มีวงเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท อยู่ที่ร้อยละ 98.21 ของผู้ฝากทั้งระบบ

ในปี 2560 ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 โดยมีประเด็นสำคัญที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนผู้ฝากเงิน คือ ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินคืนจากสถาบันภายใน 30 วันนับแต่วันที่สถาบันการเงิน ถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยไม่ต้องมายื่นคำขอรับเงินแต่อย่างใด กำหนดความชัดเจนหนี้ที่หักหนี้ก่อนจ่ายคืนแก่ ผู้ฝากเงิน หากผู้ฝากเงินมีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระเป็นจำนวนแน่นอนก่อนหรือในวันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต กำหนดให้มีอำนาจกู้ยืมเงินโดยตรง นอกจากการออกตราสารทางการเงิน เพื่อให้มีแหล่งเงินเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการจ่ายคืนผู้ฝากเงิน ให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงิน และสถาบันแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมระหว่างกันได้ เพื่อให้การเตรียมการรองรับการจ่ายคืนเงินฝากแก่ผู้ฝากเงินเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และกำหนดให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย เพื่อประโยชน์ในการชำระบัญชี ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2560 เป็นต้นมา นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า “การแก้ไขกฎหมายนี้ จะช่วยให้จ่ายคืนเงินแก่ผู้ฝากเงินได้รวดเร็วขึ้น ตลอดจนช่วยพัฒนากลไกการคุ้มครองเงินฝาก สร้างความเชื่อมั่น และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบสถาบันการเงิน อันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม”

นายสาทร โตโพธิ์ไทย ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เปิดเผยผลการดำเนินงานในปี 2560 ว่า “สถาบันได้มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อรองรับการจ่ายคืนเงินให้กับผู้ฝากเงินได้รวดเร็ว ได้มีการทบทวนแผนในการจัดหาสภาพคล่อง ตลอดจนพัฒนาระบบจ่ายคืนผู้ฝากให้แล้วเสร็จ และจัดให้มีการทดสอบการประมวลผลข้อมูลรายผู้ฝากจากสถาบันการเงิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสถาบันจะสามารถดำเนินการจ่ายคืนเงินให้กับ ผู้ฝากได้ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ” โดยสถาบันได้นำเทคโนโลยีทางการเงินที่ทันสมัยมาพัฒนากระบวนการทำงานและระบบการจ่ายคืน และมีแผนการทดสอบการประมวลผลข้อมูลรายผู้ฝากจากสถาบันการเงินสม่ำเสมอ เพื่อนำผลจากการทดสอบมาพัฒนากระบวนการทำงานและระบบงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สถาบันยังได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้ตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน (Financial Safety Net) ทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางเตรียมการรองรับกรณีเกิดเหตุวิกฤติสถาบันการเงิน รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝากและความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนทั่วไป สถาบันมุ่งหวังให้ประชาชนผู้ฝากเงินเข้าใจในระบบการคุ้มครองเงินฝาก และมั่นใจในการทำหน้าที่ของสถาบันในการคุ้มครองเงินฝากให้กับประชาชน โดยในปีที่ผ่านมาสถาบันได้มีการจัดทำเนื้อหาและประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สถาบันการเงิน สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อสังคมออนไลน์ เฟชบุ๊ค ยูทูป เพื่อสื่อสารให้เข้าถึงประชาชนผู้ฝากเงินได้ง่ายขึ้น รวมถึงการจัดงานสัมมนาเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนทั่วไปร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง

สำหรับฐานะของกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ณ สิ้นปี 2560 มีทุนจำนวน 120,029 ล้านบาท ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน 2,915 ล้านบาท หรือเท่ากับอัตราผลตอบแทนร้อยละ 2.48 ต่อปี การลงทุนของสถาบันเน้นให้ ความสำคัญทั้งความมั่นคง สภาพคล่อง และผลตอบแทน โดยสถาบันลงทุนทั้งหมดในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ซึ่งเป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 4 ปี (พ.ศ.2561 – 2564) ของสถาบัน

นายสาทร กล่าวว่า “สถาบันมีเป้าหมาย มุ่งสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงานทั้งในส่วนของงาน ตามพันธกิจและงานสนับสนุนอื่น ๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบถ้วน บุคลากร มีศักยภาพพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจ โดยจะมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม” โดยสถาบันวาง แนวทางการจัดทำแผนงานปี 2561 ให้สอดคล้องกับทิศทางแผนยุทธศาสตร์ 4 ปี และการดำเนินการตาม พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เพื่อตอบสนองต่อการดำเนินงานตามพันธกิจของสถาบันอย่างแท้จริง ดังนี้

การจัดทำกฎหมายลำดับรองให้สอดคล้องกับการปรับปรุง พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 โดยสถาบันจะจัดทำกฎหมายลำดับรอง ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับจาก พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครอง เงินฝาก ฉบับใหม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การปรับปรุงกระบวนการทำงาน และวางแผนการพัฒนาระบบงานของสถาบันโดยการนำเทคโนโลยี ที่ทันสมัยมาใช้แบบบูรณาการ ตลอดจนการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูล การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงปลอดภัยในระดับมาตรฐานสากล

การสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ในการจัดทำรายงานข้อมูลสำหรับการจ่ายคืนผู้ฝาก ข้อมูลสินทรัพย์หนี้สินของสถาบันการเงินเพื่อการรับช่วงสิทธิ์ของสถาบัน ให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบงานตาม พันธกิจของสถาบัน

การศึกษาระบบจัดเก็บ วิเคราะห์ข้อมูล และรูปแบบรายงานการวิเคราะห์ข้อมูล จะนำ Big Data Analytics มาวิเคราะห์เชิงลึกในด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติงานของสถาบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การสร้างการรับรู้ของประชาชน โดยการวางแผนการสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง ต่าง ๆ ที่มี ความทันสมัย สามารถเข้าถึงกลุ่มประชาชนผู้ฝากเงินได้หลากหลาย เพื่อสร้างการรับรู้ และความเชื่อมั่นต่อระบบคุ้มครองเงินฝากอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้จะมีการปรับวงเงินคุ้มครองจาก 15 ล้านบาท เป็น 10 ล้านบาท ในวันที่ 11 สิงหาคม 2561 และจะปรับเป็น 5 ล้านบาท ในวันที่ 11 สิงหาคม 2562 และตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป วงเงินคุ้มครองจะเป็น 1 ล้านบาท หากประชาชนผู้ฝากเงินต้องสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลคุ้มครองเงินฝาก 1158