ค่าเงินบาทอ่อนค่าหลัง กนง.คงอัตราดอกเบี้ย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 28 มีนาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (27/3) ที่ระดับ 31.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากผลสำรวจของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 6.2% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายปี ใกล้เคียงระดับ 6.3% ในเดือนธันวาคม โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง และภาวะสต็อกบ้านในระดับต่ำ ราคาบ้านเพิ่มขึ้นสูงสุดในเมืองซีแอตเติล ลาสเวกัส และซานฟรานซิสโก นอกจากนี้นายราฟาเอล บอสติค ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา กล่าวในวันนี้ว่าเขาสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีนี้ หากเศรษฐกิจปรับตัวตามการคาดการณ์ โดยนายราฟาเอลกล่าวว่า หากเศรษฐกิจมีการปรับตัวตามที่ผมคาดการณ์ไว้ ผมก็จะสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีนี้ คำกล่าวของนายบอสติคในวันนี้มีขึ้นหลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาระบุว่า จากการที่อัตราว่างงานและเงินเฟ้อกำลังอยู่ใกล้กับเป้าหมายของเฟด ทางเฟดจึงควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐต่ำกว่าคาดในเดือนมีนาคม หลังจากดีดตัวขึ้นติดต่อกัน 2 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 127.70 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 131 ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นต่อสภาวะธุรกิจ สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดย 1 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ กนง.เปิดเผยว่า ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและดีกว่าที่ประเมินไว้เมื่อไตรมาสก่อน โดยได้รับแรงส่งจากทั้งภาคต่างประเทศและอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อย ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีแต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงิน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 31.18-31.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 31.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (28/3) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2417/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (27/3) ที่ระดับ 1.2415/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรปออกมาแถลงการณ์ถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังคงเคลื่อนไหวในระดับต่ำ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในแถบยูโรโซนจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็ตาม ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวนอยู่ในช่วงระหว่าง 1.2378-1.2422 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2383/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (28/3) เปิดตลาดที่ระดับ 105.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (27/3) ที่ระดับ 105.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายฮารุฮิโกะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงในรัฐสภาญี่ปุ่นวันนี้ว่า BOJ ยังจำเป็นต้องดำเนินมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงรุก จนกว่า BOJ จะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่นเปิดเผยว่า BOJ จำเป็นต้องใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินต่อไป เพื่อยกระดับผลกระทบเชิงบวกของนโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ทาง BOJ กำลังพิจารณาผลลัพธ์จากการดำเนินงานที่ผ่านมาด้วยในแง่ของเงินเฟ้อ ทั้งนี้เงินเฟ้อยังคงห่างไกลจากเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น ขณะที่นายคุโรดะ เคยกล่าวว่า นโยบายผ่อนคลายทางการเงินจำเป็นมากที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าว โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 1% ในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนี CPI พื้นฐานเดือน ก.พ.ขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วกว่าเดือน ม.ค. ซึ่งขยายตัวเพียง 0.9% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ BOJ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 105.34-105.73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 105.66/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัยที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านสหรัฐ (28/3) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (28/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.65/-3.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.50/-7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ