เงินบาทอ่อนค่าจากเงินทุนไหลออก จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้

ค่าเงินบาทวันนี้

เงินบาทอ่อนค่าจากเงินทุนไหลออก จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือนก.ค.คืนนี้ นักเศรษฐศาสตร์คาดตัวเลขจะอยู่ที่ 3.3% เร่งตัวขึ้นจากระดับ 3%ในเดือนมิ.ย. ยังต่ำสุดนับจากเดือนมีนาคม 2021

วันที่ 10 สิงหาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/8) ที่ระดับ 5.06/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (9/8) ที่ระดับ 34.96/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยเมื่อคืนดัชนีดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบแคบท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สำหรับเดือน ก.ค.ในคืนนี้

               

โดยนักเศรษฐศาสตร์เปิดเผยผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI เดือน ก.ค.ของสหรัฐ จะอยู่ที่ 3.3% เร่งตัวขึ้นจากระดับ 3% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งถือเป็นอัตราการปรับขึ้นที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ มี.ค. 2021 และได้มีการคาดการณ์ว่าดัชนี CPI) พื้นฐานของเดือน ก.ค. อาจปรับขึ้นเท่ากับเดือน มิ.ย.ที่ระดับ 4.8% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งดัชนีราคาผู้บริโภคจะเป็นปัจจัยบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่าในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ วันที่ 19-20 ก.ย. นักลงทุนให้น้ำหนัก 86.5% ที่ธนาคารกลางสหรัฐจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ถือป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ของเดือนก่อนที่เคยให้น้ำหนักที่ 72.4%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าหลังนักลงทุนขายพันธบัตรไทยอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นยอดสุทธิกว่า 6,230 ล้านบาท ซึ่งนับตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 39,642 ล้านบาท จากปัจจัยกดดันเรื่องความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศ

นอกจากนี้นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2566 อาจปรับลดลงจากคาดการณ์ล่าสุดที่ 3.6% แต่ภาพรวมจะยังเห็นการเติบโตได้ที่ระดับ 3% กลาง ๆ เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจภายในประเทศยังได้รับปัจจัยเชิงบวกจากการบริโภค การลงทุนเอกชน และภาคการท่องเที่ยวซึ่งคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะอยู่ที่ 29 ล้านคน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อระยะยาวคาดการณ์ว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3%

ส่วนในการประชุม กนง.ครั้งถัดไป (27 ก.ย.) มีโอกาสที่จะคงหรือขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่มองว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องปรับลง ซึ่งการดำเนินนโยบายในอนาคตต้องนำ 3 เรื่องมาพิจารณา คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวต้องอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% และอัตราดอกเบี้ยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90% ต่อ GDP ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีดอกเบี้ยที่ต่ำและนานเกินไปทำให้หนี้เพิ่มขึ้น

ดังนั้นการจะไม่ให้หนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คือ ต้องปรับดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความสมดุลระยะยาวมากขึ้น นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน ก.ค. 66 พบว่า อัตราการเข้าพักโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 58% เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. 66 ที่ 46% ส่วนหนึ่งจากการเข้าสู่ช่วงปิดภาคเรียนในบางประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเพิ่มขึ้น โดยลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นลูกค้าเอเชีย และตะวันออกกลาง ขณะที่สัดส่วนนักท่องเที่ยวไทยลดลง โดยในเดือน ส.ค. 66 คาดการณ์ว่าอัตราการเข้าพักจะเฉลี่ยอยู่ที่ 54%

ส่วนแนวโน้มช่วงไตรมาส 3/2566 โรงแรมส่วนใหญ่ประเมินว่า ลูกค้าจีนจะกลับมาไม่ถึง 20% และจะทยอยเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2566 แต่ยังต่ำกว่า 40% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 และส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.03-35315 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/8) ที่ระดับ 1.0969/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (9/8) ที่ระดับ 1.0977/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยธนาคารกลางยุโรปเปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจ ในภาพรวมพบว่าอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนชะลอตัวลง แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย

ดังนั้น จึงอาจมีความจำเป็นให้ธนาคารกลางยุโรปดำเนินนโยบายตึงตัวเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจดำเนินนโยบายครั้งต่อไปอาจต้องพิจารณาถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0969-1.1024 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1022/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/8) ที่ระดับ 143.81/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (9/8) ที่ระดับ 143.27/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 3.6% มากกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 3.5% แต่เป็นการลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 4.3% และถือเป็นอัตราที่ชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันหลังจากแตะระดับสูงสุดที่ 10.6% ในเดือน ธ.ค.

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 143.71-144.11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 143.76/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (10/8), ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ เดือนกรกฎาคม (10/8), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐ ประจำไตรมาส 2 (11/8), ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐเดือนกรกฎาคม (11/8), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประจำเดือนสิงหาคม (11/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.20/10.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.75/-7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐหุ