กฎเหล็ก ก.ล.ต.คุมหุ้น IPO ตรวจบัญชีย้อนหลัง 3 ปีโบรกฯรุมต้าน

ก.ล.ต. งัดกฎเหล็กสกรีนเข้มบริษัทยื่นไอพีโอ เตรียมคลอดเกณฑ์ใหม่เปิดเผยงบการเงินมาตรฐานบัญชีบริษัทมหาชนย้อนหลัง 3 ปี จากเดิมแค่ 1 ปี ที่ปรึกษาทางการเงิน-บล.ชักแถวค้านร้อง ก.ล.ต. ทบทวน หวั่นแผนการระดมทุนในตลาดหุ้นสะดุด ใช้เวลาแต่งตัวมากกว่า 3 ปี เพิ่มภาระต้นทุน ก.ล.ต.ยันสร้างมาตรฐานสากล

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง (เฮียริ่ง) ในการปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลของผู้ออกหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุนและบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล IOSCO standard โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ 16 มีนาคม-16 เมษายน 2561

โดยประเด็นสำคัญที่มีการวิพากษ์วิจารณ์คือ ในการทำเอกสารยื่นไฟลิ่ง (filing) เพื่อขออนุญาตจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยกำหนดให้มีการเปิดเผยรายงานทางการเงินเปรียบเทียบย้อนหลัง 3 ปี ภายใต้มาตรฐานการรายการทางการเงินที่เทียบเท่าสากล และตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่อยู่ภายใต้กำกับดูแล จากปัจจุบันที่กำหนดให้รายงานงบการเงินเฉพาะงวดปีล่าสุดและไตรมาสล่าสุดเท่านั้น

ฉุดรั้งปัญหาบริษัทเข้าไอพีโอ

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีดังกล่าวส่วนตัวมองว่าอาจจะเป็นการตัดโอกาสการเข้าระดมทุนของบริษัทต่าง ๆ ในอนาคต เพราะบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อาทิ การจ้างผู้สอบบัญชีและที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ที่นานขึ้น ทั้งทำให้เกิดความยุ่งยากในการเข้าจดทะเบียนและทำให้ผู้ประกอบการไม่อยากเข้าจดทะเบียนในที่สุด

อย่างไรก็ตามอยากขอให้ ก.ล.ต.ทบทวนการแก้ไขเกณฑ์ในเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าอาจเป็นผลเสียต่อภาพรวมตลาดและการระดมทุนของบริษัทต่าง ๆ รวมถึงจะทำให้ระยะเวลาในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น

“มองว่าการจัดทำมาตรฐานการรายงานทางการเงินบังคับใช้ในปัจจุบัน 1 ปี และไตรมาสล่าสุดก็น่าจะเพียงพอแล้ว ซึ่งการขอเพิ่มเป็น 3 ปีอาจส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทที่จะเข้าตลาดสูงขึ้น และอาจทำให้ความน่าสนใจของบริษัทที่จะเข้าตลาดทำได้ยากขึ้น เพราะบางปีงบการเงินบางบริษัทก็อาจสะดุดได้” นายมนตรีกล่าว

ขณะที่ นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ กรรมการผู้จัดการ สานงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า หากเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้จริงก็อาจส่งผลกระทบให้บริษัทต่าง ๆ ที่จะเข้าตลาดหุ้นต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานขึ้น จากเดิมที่ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2 ปีในการทำงบการเงินและจัดเตรียมเอกสารเพื่อเข้าขอจดทะเบียนในตลาดหุ้น เพราะหลักเกณฑ์ที่กำลังเฮียริ่งในปัจจุบันระบุว่าบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนต้องเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะหรือ งบบริษัทมหาชน (Publicly Accountable Entities : PAEs) 3 ปี เท่ากับว่าบริษัทต่าง ๆ ที่สนใจเข้าตลาดหุ้นต้องเตรียมตัวเฉพาะทำงบ อย่างน้อย 3 ปียังไม่นับรวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องทำเพิ่มเติมอีกหลาย ๆ เรื่อง

“เรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยกับหลายฝ่าย ในแง่ของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนก็ต้องตัดสินใจว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ กับภาระค่าผู้สอบบัญชีที่สูงขึ้น และหากสุดท้ายบริษัทเปลี่ยนใจไม่เข้าตลาดหุ้นจะมีผลเสียอย่างไรบ้าง ส่วนผลกระทบของที่ปรึกษาการเงินก็คือเรื่องของเวลาในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนที่อาจนานขึ้นตามไปด้วย” นายแมนพงศ์กล่าว

บริษัทเร่งหนีเกณฑ์ใหม่

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่ามองว่าหากหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้จริงคาดว่าจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหุ้นไอพีโอแน่นอน โดยเฉพาะระยะเวลาของการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะยืดออกไปเป็น 4 – 5 ปี จากเดิมที่ใช้เวลาในการเตรียมตัว อาทิ การปรับโครงสร้างธุรกิจ, การปรับระบบบัญชี และการปรับปรุงระบบภายในเฉลี่ยประมาณ 2-3 ปี

การปรับเปลี่ยนระบบบัญชีของบริษัทจำกัดมาเป็นมาตรฐานบัญชีของบริษัทในตลาดหุ้นนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร และการใช้เวลาเข้าจดทะเบียนมากขึ้นก็เป็นความเสี่ยงที่บริษัทต่าง ๆ จะเปลี่ยนใจไม่เข้าจดทะเบียนได้

นอกจากนี้คาดว่าในช่วงที่หลักเกณฑ์ใหม่ยังไม่มีผลบังคับใช้ก็มีโอกาสจะเห็นบริษัทต่าง ๆ เร่งเข้ามายืนขอจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น เพราะคนที่คิดว่าจะเข้าจดทะเบียนก็อาจต้องเร่งตัดสินใจในช่วงนี้ก่อนที่เกณฑ์ใหม่จะมีผลบังคับใช้

แหล่งข่าวจากที่ปรึกษาการเงิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาได้เคยเข้าไปพูดคุยกับสำนักงาน ก.ล.ต.แล้ว ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาการเงินส่วนใหญ่ต่างไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากมองว่ามีผลกระทบค่อนข้างมากต่ออุตสาหกรรม โดยเรียกร้องให้ ก.ล.ต.ชั่งน้ำหนักให้ดีว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะว่าการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวแม้จะส่งผลให้ ก.ล.ต.ได้คะแนนประเมินที่เพิ่มขึ้น แต่อาจต้องแลกกับผลกระทบต่อตลาดไอพีโอที่จะทำให้บริษัทที่เข้าจดทะเบียนต้องสะดุด หรือขาดช่วงได้โดยเฉพาะช่วงรอยต่อก่อนที่เกณฑ์จะมีผลบังคับใช้

“ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลให้การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนขาดช่วงได้ ในช่วงรอยต่อก่อนที่เกณฑ์ใหม่จะมีผลบังคับใช้ และเชื่อว่าอนาคตอาจทำให้การเข้าจดทะเบียนของบริษัทต่าง ๆ อาจลดน้อยลง แม้ว่า ก.ล.ต.จะให้เวลาเตรียมตัว 5 ปี หลังประกาศบังคับใช้ แต่การที่จะนำบริษัทเข้าไอพีโอได้ก็ต้องใช้เวลาในการแต่งตัวอย่างน้อย 3 – 4 ปี ดังนั้นหลายฝ่ายได้เสนอให้ ก.ล.ต.ทบทวนหรือเจอกันคนละครึ่งทาง โดยปรับลดระยะเวลาการแก้ไขงบ จาก 3 ปี เป็น 2 ปี เพื่อให้กระทบต่อระยะเวลาการเข้าจดทะเบียนของบริษัทใหม่ไม่มากเกินไป” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สอบบัญชีขาดแคลน

ด้านแหล่งข่าวจากวงการตลาดทุนไทยกล่าวว่า นอกเหนือจากประเด็นผลกระทบเรื่องระยะเวลาและค่าใช้จ่ายของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องภาระของเจ้าหน้าที่บัญชีของบริษัทและผู้สอบบัญชีที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ขณะที่ปัจจุบันจำนวนผู้สอบบัญชีในอุตสาหกรรมก็ถือว่าค่อนข้างจำกัด ไม่เพียงพออยู่แล้ว ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำหรับบริษัทที่ต้องเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นในอนาคตได้

กรณีการเปิดรายงานทางการเงินตามมาตรฐานสากลย้อนหลัง 3 ปีถือเป็นเรื่องยุ่งยากมากสำหรับบริษัททั่วไป เพราะต้องมีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลที่มาที่ไปของทุกรายการ ขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ก็ยังมีการทำบัญชี 2 เล่ม ซึ่งในแง่ของการคัดสรรคุณภาพบริษัทที่เข้าจดทะเบียน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อนักลงทุนและต่อตลาดทุนไทยในระยะยาว

ก.ล.ต.ชี้เพิ่มเชื่อมั่นตลาดทุนไทย

นายประกิด บุณยัษฐิติ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.มีความจำเป็นต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐาน IOSCO ภายในปีนี้ เนื่องจากในช่วงปลายปีนี้-ต้นปีหน้า ก.ล.ต.จะต้องเข้ารับการประเมินจาก FSAP (financial sector assessment program) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์ เป็นการประเมินด้านประสิทธิภาพของการกำกับดูแลกฎเกณฑ์เกี่ยวกับหลักทรัพย์ให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากลของ IOSCO เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตลาดทุนไทยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ยอมรับว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อผู้ออกหลักทรัพย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้สอบบัญชี เนื่องจากต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนที่นานขึ้น ซึ่ง ก.ล.ต.ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงกำหนดให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อบริษัทที่เตรียมตัวยื่นคำขออนุญาตไอพีโอภายใต้หลักเกณฑ์เดิมในระยะเวลาอันใกล้นี้ รวมทั้งเป็นการแจ้งให้ผู้ที่ต้องการจะออกหลักทรัพย์ได้รับทราบและมีระยะเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า