ดอลลาร์อ่อนค่า จากความไม่แน่นอนทางการเมือง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/7) ที่ 33.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (27/7) ที่ระดับ 33.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28/7) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2 ปี 2560 อยู่ที่ระดับ 2.6% ซึ่งสูงกว่าที่ขยายตัว 1.2% ในไตรมาสแรก และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.5% อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยล่าสุดวุฒิสภาสหรัฐจะลงมติคัดค้านการล้มเลิกใช้กฎหมายประกันสุขภาพฉบับโอบามาแคร์ ด้วยคะแนนเสียง 49-51 ดังนั้นจนถึงขณะนี้จึงยังไม่มีร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่มาบังคับใช้แทนที่โอบามาแคร์ ซึ่งความล้มเหลวดังกล่าวได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะสามารถผลักดันนโยบายด้านภาษีและการคลังตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ได้หรือไม่ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.28-33.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (27/7) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินทั้งระบบ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2560 อยู่ที่ 4.17 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.95% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 4.3 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่ 3.74 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.72% แต่เพิ่มขึ้นเพียง 1.2 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.05 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2.95% ของสินเชื่อรวม นอกจากนี้ในวันนี้ (31/7) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสหากรรม (MPI) เดือน มิ.ย.อยู่ที่ 111.76 หดตัว 0.16% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ MPI ไตรมาส 2 หดตัว 0.06% อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมโดยรวมดีขึ้นส่งผลให้ ภาพรวมครึ่งปีแรกของปี 2560 MPI ขยายตัว 0.15% ทั้งนี้เชื่อว่าอุตสาหกรรมหลักจะฟื้นตัวเต็มที่ในไตรมาสหน้า

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (31/7) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1740/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (27/7) ที่ระดับ 1.1717/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28/7) สำนักสถิติแห่งชาติเยอรมนี ได้ประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือน ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% ดีกว่าเดือนก่อนหน้าและดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1721-1.1761 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1733/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (31/7) เปิดตลาดที่ระดับ 110.37/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (27/7) ที่ระดับ 111.37/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (27/7) สำนักงานสถิติแห่งชาติของญี่ปุ่น ได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค ประจำเดือน ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% เท่ากับเดือนก่อนหน้า ส่วนตัวเลขยอดค้าปลีก ประจำเดือน มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.1% เท่ากับเดือนก่อนหน้า แต่แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.3% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.30-110.77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.56/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงต้นสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขยอดค้าปลีกของเยอรมนี (31/7) ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน (31/7) ตัวเลขยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐ (31/7) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของยูโร (1/8) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของอังกฤษ (1/8) ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ของยูโรโซน (1/8) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐ (1/8) อัตราการว่างงานของนิวซีแลนด์ (1/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.7/-0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.0/-3.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ