
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ปรับประมาณการจีดีพีปี 2566 เหลือ 3.3% และปี 2567 อยู่ที่ 4.2% ท่องเที่ยว-การบริโภคแรงหนุนหลัก มั่นใจนักท่องเที่ยวได้ 30 ล้านคน มองนโยบายกระตุ้นภาครัฐพยายามกระตุ้นบริโภค เหตุเศรษฐกิจโลกปีหน้าชะลอ-การส่งออกหดตัว คาด กนง.คงดอกเบี้ย 27 ก.ย.นี้
วันที่ 18 กันยายน 2566 ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ธนาคารยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยภาพรวมยังอยู่ในช่วงขยายตัว แม้ว่าเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ออกมา 1.8% ต่ำกว่าคาด โดยเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ระดับ 4.3% อย่างไรก็ดี ธนาคารได้ปรับประมาณการจีดีพีปี 2566 อยู่ที่ 3.3% จาก 4.2% และปี 2567 ขยายตัวที่ 4.2% จากคาดเดิม 4.5%
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจปีนี้ คือ การเมืองเริ่มนิ่งผ่านช่วงชะงักงัน (DeadLock) และมีการกระตุ้นการใช้จ่าย และท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยในช่วง 8 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 18 ล้านคน เฉลี่ยเดือนละ 2.2 ล้านคน ซึ่งคาดว่าครึ่งปีหลังช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 2.7-2.8 ล้านคนต่อเดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้งปีเป็นไปตามคาดที่ 30 ล้านคน โดยเป็นนักท่องเที่ยวจีนอยู่ที่ 5 ล้านคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.2 ล้านคน ซึ่งมองว่าเรื่อง Free Visa อาจจะต้องทำควบคู่กับเที่ยวบินด้วย
อย่างไรก็ดี ธนาคารมองว่ายังคงมีความไม่แน่นอน เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่ได้ประกาศจุดสูงสุดของการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยในการประชุมวันพุธที่ 20 ก.ย. 2566 จะคงดอกเบี้ย 5.5% แม้ว่าการว่างงานต่ำ และเงินเฟ้อต่ำแต่ยังอยู่ในระดับ 4% สูงกว่ากรอบเป้าหมาย 2% สะท้อนว่าความผันผวนในตลาดการเงินยังมีอยู่ ซึ่งจะเห็นเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าสุดในภูมิภาคที่ระดับ 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์ แต่คาดว่าจากท่องเที่ยวที่กลับมาภายในสิ้นปีนี้เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าในกรอบ 34.00 บาทต่อดอลลาร์
ขณะที่นโยบายการเงิน คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี ในการประชุมวันที่ 27 ก.ย. 2566 มติเอกฉันท์ เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อลดลง ภายใต้อัตราเงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ 1.4% และปีหน้าอยู่ที่ 2.1% อย่างไรก็ดี การประชุมเดือน พ.ย.นี้มีโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้น 1 ครั้ง มาอยู่ที่ 2.50% ต่อปี โดยที่ภาพยังไม่ได้เป็นการปรับลดดอกเบี้ย เหมือนเฟดที่คาดว่าจะลดดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 1/2567 และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะลดในกลางปี 2567
“สิ่งที่เรากังวล คือ เงินเฟ้อ แม้ว่าเดือนนี้เงินเฟ้อจะต่ำ 0% แต่มีหลายปัจจัยที่เร่งเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทั้งราคาอาหารและน้ำมันที่มีโอกาสปรับตัวสูงจากภัยแล้ง ซึ่งเป็นจุดยากที่เงินเฟ้อขึ้น และทำให้แบงก์ชาติต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น ส่วนเศรษฐกิจไตรมาส 4/2566 เรายังคงตามดูว่าจะเห็นภาพนักท่องเที่ยวตามคาดหรือไม่”
ดร.ทิมกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท มองว่าอาจจะเร็วเกินไปในการประเมิน เนื่องจากต้องรอดูแหล่งเงินทุน แหล่งที่มาของเงิน และจะเกิดขึ้นจริงภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 หรือไม่ แต่เบื้องต้นเชื่อว่าภาพยังเป็นลดการขาดทุนในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า และยังอยู่ในกรอบวินัยการคลัง เนื่องจากเศรษฐกิจในปีหน้าและถัดไปยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐมีรายได้มากขึ้น และจะช่วยสมดุลระหว่างรายได้และรายได้
“เรามีความเข้าใจรัฐบาลว่าทำไมต้องกระตุ้นในประเทศ เป็นเซ็กเตอร์ที่แข็งแรง ดูจากการบริโภคครึ่งปีแรกขยายตัว 7% แต่การส่งออก -5% ซึ่งดิจิทัลวอลเลตเพื่อช่วยกระตุ้นบริโภค เพราะเศรษฐกิจโลกปีหน้าไม่ได้โต ซึ่งเราต้องให้เวลารัฐบาลในเรื่องของแหล่งเงิน
แต่ภาพรวมเรายังมองว่างบประมาณ 5-6 ปีข้างหน้าขาดดุล และเพดานหนี้จะลดลง ซึ่งตามข้อมูลเบื้องต้นที่รัฐออกมา ส่วนผลกระทบต่อเงินเฟ้อจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น มองว่าเป็นเรื่องชั่วคราวมากกว่า จะห่วงเรื่องราคาน้ำมันที่เริ่มสูงขึ้นค่อนข้างเร็ว ราคาอาหาร-สินค้าเกษตรที่สูงขึ้น จะดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมากกว่าซึ่งเป็นความเสี่ยงของปีหน้าด้วย”