“จิตตะ” เสนอรัฐทบทวนการจัดเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมกับนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ พร้อมเป็นตัวแทนนักลงทุนหารือทางออกร่วมกับสรรพากร
วันที่ 19 กันยายน 2566 นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ นักลงทุนในหุ้นต่างประเทศ และผู้ก่อตั้ง Jitta (จิตตะ) ผู้ให้บริการเทคโนโลยีการวิเคราะห์หุ้นทั่วโลก ที่นักลงทุนไทยนิยมใช้เพื่อตัดสินใจลงทุนต่างประเทศ กล่าวว่า จากกรณีที่มีคำสั่งของกรมสรรพากรที่กำหนดให้ผู้มีรายได้จากต่างประเทศต้องนำเงินได้พึงประเมินมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีบุคคลธรรมดานั้น ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาประกาศนี้อย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เนื่องจากมีผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่มีการลงทุนต่างประเทศอยู่ในขณะนี้
โดยภาพรวมแล้วแนวทางที่สรรพากรนำมาใช้ เพื่อจัดเก็บภาษีรายได้ในต่างประเทศส่วนนี้เพิ่มเติม ก็เพราะคิดว่า บุคคลที่สามารถลงทุนต่างประเทศได้นั้น น่าจะเป็นผู้ที่มีความมั่งคั่งสุทธิสูง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีด้านการลงทุนต่างประเทศได้พัฒนาขึ้นมาก ทำให้ปัจจุบันนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากได้ลงทุนในต่างประเทศ เพราะมองเห็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทน และมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่าการลงทุนแต่ในประเทศเพียงอย่างเดียว
โดยปัจจุบันนี้ นักลงทุนรายย่อยทั่วไปสามารถเริ่มลงทุนต่างประเทศได้แล้ว ด้วยเงินเพียงหลักร้อยหลักพันบาทเท่านั้น
“หากกรมสรรพากรมีการเรียกเก็บภาษีจากเงินลงทุนในหุ้นต่างประเทศ กลุ่มคนที่น่าจะโดนผลกระทบหนักสุด คือ นักลงทุนรายย่อยมากกว่า นักลงทุนรายใหญ่ ๆ ที่มีโอกาสลงทุนที่มากกว่า และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรือโอนเงินกลับเข้าประเทศเลย”
นอกจากนี้แนวทางปฏิบัติในการคิดภาษีในส่วนของการลงทุนในหุ้นยังต้องมีความชัดเจนอย่างมาก เนื่องจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศจะแตกต่างจากการมีรายได้อื่น ๆ เช่น จากการทำงาน หรือการมีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เพราะหุ้นเป็นทรัพย์สินเสี่ยง มีโอกาสขาดทุนหรือมีกำไรก็ได้ รวมทั้งมีจำนวนการทำธุรกรรมการซื้อขายที่เยอะกว่า ทำให้การคิดภาษีมีความซับซ้อนสูง สร้างความสับสนในการปฏิบัติต่อนักลงทุน
ดังนั้น ถ้าหากจะต้องเสียภาษีในการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ควรจะต้องพิจารณาในส่วนนี้อย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ลงทุนที่จะต้องเสียภาษีทุกคน
ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เราลงทุนต่างประเทศ ปีแรกมีกำไรแล้วนำเงินเข้ามา เสียภาษีไปแล้ว อีกปีนำเงินไปลงทุนต่อ แต่กลับขาดทุนหนัก แต่ขอภาษีตอนกำไรคืนก็ไม่ได้ แบบนี้ก็ยิ่งทำให้ในระยะยาวแล้ว นักลงทุนจะยิ่งขาดทุนหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่มีใครอยากจะไปลงทุนในต่างประเทศอีกเลย
หรือในกรณีมีการนำเงินไปลงทุนในพอร์ตการลงทุน 2 พอร์ต ที่จีนและที่อเมริกา ถ้าพอร์ตที่อเมริกากำไร แต่พอร์ตที่จีนขาดทุน แล้วนำเงินกลับมา เมื่อคิดภาษีเฉพาะพอร์ตที่กำไร ก็อาจจะไม่ยุติธรรมสำหรับนักลงทุน
ในประเด็นของความเท่าเทียมกันในการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนนั้น เนื่องจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันได้รับการยกเว้นภาษี capital gain tax ดังนั้นส่วนตัวจึงคิดว่า การลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ก็ควรจะได้รับการยกเว้นเช่นเดียวกัน ซึ่งก็จะตรงกับที่ทางกรมสรรพากรออกมาชี้แจงล่าสุดว่า ต้องการสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้นภาษีภายในประเทศจัดเก็บแบบไหน ก็ควรจะนำไปใช้เป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศในแบบเดียวกัน
ทั้งนี้เพื่อให้นักลงทุนสามารถนำเงินไปแสวงหาโอกาสการลงทุนที่ดีจากทั่วโลกได้ เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อลงทุนได้กำไร นักลงทุนก็จะนำเงินกำไรที่ได้จากต่างประเทศกลับมาใช้จ่ายในประเทศ กระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนต่อไป น่าจะเหมาะสมกว่าที่จะจัดเก็บภาษีจากกำไรตั้งแต่ต้น
จากประสบการณ์ที่เป็นนักลงทุน ผู้สร้างเทคโนโลยีการลงทุน และการได้คลุกคลีอยู่กับนักลงทุนรายย่อยที่ได้มีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจำนวนมาก ผมยินดีเป็นอย่างมากที่จะเข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อย (โฟกัสกรุ๊ป) เสนอแนะปัญหาและข้อกังวลร่วมกับกรมสรรพากร เพื่อให้มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมให้มากที่สุดต่อนักลงทุนทุกคน