ช็อก! เอ็นพีแอลรายย่อยพุ่งไม่หยุด หนี้เน่าดีเวลอปเปอร์ ตจว.ป่วนแบงก์

เครดิตบูโรเปิดไส้ในสินเชื่อรายย่อย เอ็นพีแอลยังพุ่งไม่หยุด คาด Q2-3 ถึงจุดพีกทะลุ 7% จับตาอสังหาฯ ห่วงหนี้เน่าสินเชื่อบ้าน-สินเชื่อโครงการ ขณะที่หนี้เสียพีโลนกระฉูดไม่น้อยหน้า ชี้แบงก์แหยงปล่อยกู้แห่ดูข้อมูลลูกค้าถี่ยิบ

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า ปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่า สถาบันการเงินเข้ามาตรวจข้อมูลลูกค้าเก่าเพื่อใช้บริหารความเสี่ยง (enquiry for credit review) มากถึง 43.85 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าที่เข้ามาดูข้อมูล 42.15 ล้านครั้ง ขณะที่ 2 เดือนแรกปี 2561 พบว่ามียอดเข้ามาตรวจข้อมูลลูกค้าเก่าแล้วเกือบ 10 ล้านครั้ง เฉลี่ย 5 ล้านครั้งต่อเดือน ซึ่งอยู่ในอัตราที่สูง ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันสถาบันการเงิน และสมาชิกเครดิตบูโรยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังอยู่ในระดับสูง ประเมินว่าปีนี้ยอดการตรวจข้อมูลลูกค้าเก่าอาจเพิ่มขึ้นถึงไม่ต่ำกว่า 50 ล้านครั้ง

Q2-3 หนี้เสียพีกเกิน 7%

ทั้งนี้ พิจารณายอดหนี้เอ็นพีแอลของสินเชื่อรายย่อย ทั้งที่อยู่อาศัย รถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่าเอ็นพีแอลรายย่อยรวมลดลงมาอยู่ที่ 6.9% จาก 7.2% ในปี 2559 แม้จะปรับตัวลดลงแต่ยังน่าห่วง เพราะยอดปรับโครงสร้างหนี้สะสมของลูกค้ารายย่อยปรับขึ้นต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท จากระดับ 1.5 แสนล้าน ช่วงปี 2557 ส่งสัญญาณให้เห็นว่าเอ็นพีแอลยังไม่ถึงจุดพีกที่สุด เหมือนที่หลายฝ่ายคาดไว้ เพราะแบงก์ยังสะสมความเปราะบางจากสินเชื่อบางกลุ่มที่ยังมีปัญหาต่อเนื่อง

“ยอดสะสมของการปรับโครงสร้างหนี้ยังสูงขึ้น แบงก์ยังสะสมความเปราะบางจากลูกหนี้ สะท้อนให้เห็นว่เอ็นพีแอลยังไม่ใช่จุดพีก คาดว่าจะเห็นจุดพีกได้ราวปลายไตรมาส 2-3 ที่เกินระดับ 7% แม้ ธปท.ต้องการคุมไม่ให้เกิน 7% ก็ตาม”

ห่วง NPL สินเชื่อบ้าน-โครงการ

นายสุรพลยังกล่าวว่า กลุ่มที่น่าห่วงปีนี้คือ สินเชื่อบ้านและคอนโดฯ และสินเชื่อบุคคล ที่ยังเห็นเอ็นพีแอลปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ค่อนข้างกังวล ว่าอาจเกิดเอ็นพีแอล 2 ขา คือเอ็นพีแอลในฝั่งผู้ประกอบการ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายย่อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการบ้านในต่างจังหวัด ที่ผลประกอบการไม่แข็งแกร่ง แหล่งเงินทุนไม่เพียงพอ และยอดขายไม่ได้ตามเป้า

แม้ตัวเลขเอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านรายย่อย ณ สิ้นปี 2560 จะลดลงมาอยู่ที่ 3.8% จาก 4.1% แต่ที่น่าห่วงเป็นเพราะเอ็นพีแอลที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากการปรับโครงสร้างหนี้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่กลุ่มดังกล่าวจะตกชั้นและกลับมาเป็นเอ็นพีแอลใหม่ได้ในอนาคต

หากดูด้านคุณภาพหนี้ พบว่า กลุ่มเจนวายและเจนเอ็กซ์น่าห่วงมากเนื่องจากประวัติค้างชำระ 2 กลุ่มนี้รวมกันมีสูงถึง 1.8 แสนบัญชี มูลค่าหนี้ค้างชำระประมาณ 2 แสนล้านบาท

“สินเชื่อบ้านเป็นสิ่งที่เราห่วงมากที่สุดเอ็นพีแอลบ้านแม้ปรับตัวลดลงเหลือ 3.8% แต่อย่าเพิ่งดีใจ เพราะส่วนใหญ่อยู่ใน SM ยังพุ่งอยู่ที่ 2.5% จาก 2.3% ยอดปรับโครงสร้างอยู่ในระดับสูงเป็นการสะสมความเสี่ยงไว้ ซึ่งที่ประชุม กนง.แสดงความเป็นห่วง และเริ่มกังวลว่าจะเกิดปัญหาเอ็นพีแอล 2 ขา เพราะสินเชื่อบ้านเป็นเอ็นพีแอลเพียง 1 บัญชี เฉลี่ยล้านบาท สำหรับปีนี้สินเชื่อบ้านยังเป็นขาขึ้นต่อ เอ็นพีแอลปีนี้ก็น่าจะอยู่ราว 4-5%”

เจน X-Y ติดหล่มหนี้ส่วนบุคคล

ขณะที่สินเชื่อบุคคลน่าห่วงเช่นเดียวกัน จากปัจจุบันสินเชื่อบุคคลมีทั้งหมด 16 ล้านบัญชี หรือมียอดสินเชื่อคงค้างที่ 1.96 ล้านล้านบาท พบว่ามีถึง 2.4 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้ราว 2 แสนล้านบาท มียอดค้างชำระตั้งแต่ 1 งวดขึ้นไปจนเป็นเอ็นพีแอล ในจำนวนนี้ 2 กลุ่มคือ เจนวายและเจนเอ็กซ์ มีหนี้ค้างชำระมากที่สุด โดยเฉพาะเจนวายมีถึง 1.4 แสนบัญชี

ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต หากดูจำนวนบัตรเครดิตที่มีการแอ็กทีฟล่าสุดอยู่ที่ 13.4 ล้านบัญชี หากดูยอดค้างชำระ จากกลุ่มเจนวายและเจนเอ็กซ์ รวมกันอยู่ที่ใกล้ 1 ล้านบัญชี มูลค่าหนี้รวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เอ็นพีแอลบัตรเครดิตปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 13.9% จากปีก่อนหน้าที่ 13.2%

อีคอมเมิร์ซ-อีวอลเลตชิงสินเชื่อ

นายสุรพลกล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมของเครดิตบูโร ปัจจุบันมีกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ อีวอลเลต เช่าซื้อ นาโนไฟแนนซ์ เข้ามาขอเป็นสมาชิกเครดิตบูโรมากขึ้น ล่าสุด อยู่ระหว่างการพิจารณา 3 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้ใบอนุญาต (ไลเซนส์) นาโนไฟแนนซ์จาก ธปท. และปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าในเครือข่ายของตัวเองอยู่แล้ว แต่ขอเข้าเครดิตบูโรเพื่อให้สามารถเห็นความเสี่ยง และต้องการปล่อยกู้ในวงเงินที่สูงขึ้น จึงต้องอาศัยข้อมูลเครดิตบูโรวิเคราะห์ข้อมูลก่อนปล่อยสินเชื่อเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มนาโนไฟแนนซ์เหล่านี้เริ่มมีบทบาทในวงการสินเชื่อมากขึ้น และมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ปล่อยสินเชื่อจากข้อมูลเพย์เมนต์ จากการซื้อขายเท่านั้น มียอดปล่อยสินเชื่อรวมกันแล้วกว่า 4 แสนบัญชี และมีเอ็นพีแอลต่ำเพียง 1.4% เท่านั้น ต่ำมากหากเทียบกับเอ็นพีแอลสินเชื่อรายย่อย ดังนั้น หากนาโนไฟแนนซ์เหล่านี้เข้ามามีบทบาท เข้าถึงข้อมูลลูกค้าได้มากขึ้น อาจมาดิสรัปต์วงการแบงก์รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ได้

“ความเชื่อที่ว่าต้องข้อมูลแบบนี้จากเครดิตมาปล่อยสินเชื่ออาจไม่ใช่ ไม่จริงแล้ว เพราะเขาสามารถปล่อยกู้ลูกค้าจากข้อมูลเพย์เมนต์ ในเครือข่ายเขาเองได้ จุดนี้จึงท้าทายธุรกิจแบงก์ และทุกวันนี้การปล่อยสินเชื่อของแบงก์มีมาร์เก็ตแชร์แค่ 33% แบงก์รัฐ 25.5% แต่น็อนแบงก์มีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นที่ 30.6% เพราะเข้าไปปล่อยกู้กลุ่มเงินเดือนต่ำ ในโรงงาน ดังนั้นตลาดสินเชื่อ วันนี้ไม่มีใครเป็นบิ๊กเพลเยอร์แล้ว” นายสุรพลกล่าว

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”