ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า จากข้อมูลตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า จากข้อมูลตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง หลังสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐออกมาเปิดเผยว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานพุ่งขึ้นเกือบ 700,000 ตำแหน่ง ขณะที่เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า

วันที่ 4 ตุลาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 4 ตุลาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/10) ที่ระดับ 37.10/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (3/10) ที่ระดับ 37.02/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากการที่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจทางด้านตลาดแรงงานในสหรัฐยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

               

โดยสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ซึ่งพบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้นเกือบ 700,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.61 ล้านตำแหน่งในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 8.8 ล้านตำแหน่ง

ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS เป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน นอกจากนั้นยังได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะ 4.85% ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 16 ปี โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินพุ่งขึ้นแตะ 107 ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในรอบ 10 เดือน

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่นักลงทุนให้ความสำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน ก.ย. ที่จะออกมาในวันศุกร์ (6/10) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 163,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ย. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานเดือน ก.ย.จะลดลงสู่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.8% ในเดือน ส.ค.

ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า โดยมีทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคและตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังได้รับปัจจัยหนุนจากยอดสมัครงานของสหรัฐที่ออกมาดีเกินคาด

นอกจากนั้นเมื่อวาน (3/10) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่าค่าเงินบาทมีความผันผวนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า, ความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน และราคาทองคำที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากค่าเงินบาทของไทยมีความสัมพันธ์กับปัจจัยดังกล่าวอย่างมาก

สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ กระแสเงินทุนต่างประเทศ (Flow) หลังมีแรงเทขายหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติจนส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยทำนิวโลว์ นอกจากนี้ยังต้องติดตามมาตรการของรัฐบาลที่จะเรียกความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของนโยบายการท่องเที่ยวที่ได้โปรโมตออกไปแล้ว แต่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นมาจากเหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบทางตรงกับการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.04-37.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.06/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/10) ที่ระดับ 1.0463/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (3/10) ที่ระดับ 1.0484/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังไงก็ตาม ค่าเงินยูโรกลับมาแข็งค่าในช่วงบ่าย หลังจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ออกมาดีกว่าคาดที่ระดับ 48.7 จากที่คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 48.4

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0450-1.0505 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0500/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/10) ที่ระดับ 149.18/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (3/10) ที่ 149.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวในกรอบแคบ หลังจากที่เมื่อคืนค่าเงินเยนอ่อนค่าแตะระดับสำคัญที่ 150 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เข้ามาแทรกแซงตลาดทำให้ค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าแตะระดับ 147.37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.72-149.32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.11/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนกันยายน จาก ADP (4/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนกันยายนจากเอสแอนด์พี โกลบอล (4/10), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนสิงหาคม (5/10) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกันยายน (6/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.75/-9.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.5/-7.45 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ