นำทีมแบงก์รัฐตรึงดอกเบี้ย “ฉัตรชัย” โชว์ผลงาน Q1 ธอส.

สัมภาษณ์

“แบงก์รัฐ (สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ) ก็มีการคุยกันไว้ว่า ในกรณีที่ กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย CFO (รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานการเงินและบัญชี) ของแบงก์รัฐทั้งหมด จะต้องมานั่งคุยกันเพื่อกำหนด position (จุดยืน)” นี่เป็นคำกล่าวของ “ฉัตรชัย ศิริไล” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งปัจจุบันสวมหมวกประธานสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (สภา SFIs) อยู่ด้วย ในการแถลงข่าวที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้

ส่วน ธอส.เอง “ฉัตรชัย” ยืนยันว่า ก็จะตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้ได้นานที่สุด หรือหากจำเป็น ก็จะปรับขึ้นให้ต่ำที่สุด

“ปีนี้ตามแผนที่ผ่านบอร์ด (คณะกรรมการธนาคาร) เคยคำนวณไว้ว่า จะรองรับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยได้ 2 ชอต แต่ตอนนี้เฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) ขึ้นดอกเบี้ยไป 1 ครั้ง แต่ กนง.ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% เราก็มองว่า ดอกเบี้ยสินเชื่อยังไม่อยู่ในภาวะที่จะปรับขึ้น หากมีการปรับตัวขึ้นก็คงขึ้นแค่ชอตเดียว ดังนั้นผลกระทบที่เรามองไว้ ก็รองรับได้”

นอกจากการตรึงดอกเบี้ยภาพรวมแล้ว โปรดักต์สินเชื่อหลายตัว “ฉัตรชัย” ยอมรับว่า ธอส.ก็ออกแบบให้มี “มาร์จิ้น (กำไร) บางเฉียบ” ที่สุด

“การที่มาร์จิ้นบาง ก็จะทำให้กำไรลดลง แต่ก็ต้องยังทำได้ตาม KPI profit (ดัชนีชี้วัดผลกำไร) ที่ตั้งไว้ แต่ไม่ใช่ทำกำไรสูงสุด”

ขณะเดียวกันล่าสุด ธอส.เพิ่งประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) การทำธุรกรรมเกี่ยวกับเงินฝากทั้งหมด ทั้งการฝาก/โอนเงินข้ามเขต, ถอนเงินข้ามเขต, พร้อมเพย์ และชำระค่าสาธารณูปโภค ทั้งผ่านช่องทาง ATM, เคาน์เตอร์ และอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง มีผลตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป ซึ่งกระทบกับรายได้ค่าฟีราว 50 ล้านบาท จากปกติ ธอส.มีค่าฟีรายปีเกือบ 1,000 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปีนี้ เอ็มดี ธอส.ประเมินว่า น่าจะเติบโตได้ดีกว่าปีก่อน เนื่องจากมีโครงการลงทุนภาครัฐ เช่น รถไฟฟ้า เกิดขึ้นหลายสาย เป็นต้น

โดย ธอส.ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2561 ไว้ที่ 189,000 ล้านบาท หรือเติบโต 6% ซึ่งธนาคารได้วางแผนเร่งเครื่องสินเชื่อตั้งแต่ไตรมาสแรก เป็นการสรุปบทเรียนจากปีก่อนที่ไปเร่งช่วง 2 เดือนสุดท้าย ส่งผลให้พนักงานต้องทำงานหนัก ประกอบกับความไม่แน่นอนของแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย รวมถึง ธอส.กำลังพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์หลัก (คอร์แบงกิ้ง) ซึ่งจะต้องดึงพนักงานบางส่วนร่วมทดสอบระบบ จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพการปล่อยสินเชื่อช่วงปลายปี “ดรอปลงไป”

ดังนั้นหลังผ่านไตรมาสแรก ณ สิ้นวันที่ 31 มี.ค. 2561 ธอส.ได้ปล่อยสินเชื่อใหม่แล้ว 50,900 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 76% เทียบกับไตรมาสแรกปี 2560 ที่ปล่อยได้เพียง 28,900 ล้านบาท ขณะที่เมื่อถึงสิ้นไตรมาส 2 หรือกลางปี ธอส.วางแผนว่าต้องปล่อยสินเชื่อให้ได้ 48-55% ของเป้าหมายทั้งปี จากปีที่แล้วปล่อยได้แค่ 38%

“สินเชื่อปีนี้ในไตรมาสแรก โตขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนถึงกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการที่เราพยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าคู่แข่ง รวมถึงสินเชื่อ Home For All ที่มีโปรโมชั่น 4 ฟรี ที่ยังเหลือวงเงินจากปีก่อน โดยโปรดักต์สินเชื่อที่ออกมา ไม่ว่าจะสินเชื่อบ้านสานรัก สินเชื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่ออกมาในปี 2560 ก็มีผลถึงไตรมาสแรกปีนี้ และสินเชื่อมั่งมีศรีสุขที่ออกปีนี้ ขณะที่ผลกำไรอยู่ที่เดือนละกว่า 900 ล้านบาท ซึ่งทั้งปีเราตั้งเป้ากำไรไว้ที่ 12,137 ล้านบาท ดูแล้วก็อยู่ในทิศทางที่น่าจะทำได้ตามเป้า”

ทั้งนี้ หลังจากนี้ ธอส.จะต้องปล่อยสินเชื่อไม่ต่ำกว่าเดือนละกว่า 40,000 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็เริ่มปล่อยสินเชื่อบ้านบุพเพสันนิวาส ที่ให้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.99% เป็นเวลา 10 ปี ถือว่ายาวสุดในตลาดที่ปัจจุบันคงที่กันแค่ 2-3 ปี โดยกลุ่มเป้าหมายคือผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งมีรายได้มั่นคง สามารถซื้อที่อยู่อาศัยไว้รองรับหลังเกษียณได้ โดยคาดว่าภายใน 3 เดือนจะปล่อยกู้ได้ครบวงเงิน 3,000 ล้านบาท

“เราประเมินว่า บ้านในกลุ่มนี้น่าจะราคา 2-3 ล้านบาท ซึ่งเมื่อดอกเบี้ยคงที่ 10 ปี เงินงวดก็จะอยู่ที่ราว 10,000-15,000 บาท โดย ธอส.มองว่า คนอายุ 50 ปีมีรายได้เพียงพอมาจ่ายเงินงวดนี้ แล้วถามว่าดอกเบี้ยคงที่นานขนาดนี้ ธนาคารจะขาดทุนหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าเรามีการออกพันธบัตรคงที่ 10 ปีแบ็กอัพไว้ 100% ฉะนั้นจะไม่ผันผวน และเราออกทดสอบตลาดไป 3,000 ล้านบาท ต้นทุนอยู่ที่ 3% กว่า ๆ เราบวกต้นทุนบริหารจัดการไปออกมาจึงเป็น 3.99%”

และว่าอนาคต ธอส.อาจจะออกพันธบัตรเพิ่มเป็นปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อทำโปรดักต์สินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว หากได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี

เอ็มดี ธอส.กล่าวด้วยว่า สำหรับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เดือน ม.ค.เพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ ก.พ.เพิ่มแค่กว่า 200 ล้านบาท เนื่องจากมีการบริหารจัดการที่เข้มข้นขึ้น ถือว่าทำได้ดีกว่าปกติที่ช่วงไตรมาสแรกของทุกปี NPL จะเพิ่มไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วน NPL อยู่ที่ 4.36% คาดว่าถึงสิ้นปีจะคุมไว้ได้ที่ไม่เกิน 4.36%

ทั้งหมดนี้เป็นการช่วยให้คนไทยมีบ้าน ด้วยสินเชื่อที่ดอกเบี้ยถูกลง ภายใต้การบริหารจัดการต้นทุนที่เหมาะสมตามกลยุทธ์ที่ ธอส.วางไว้