
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ 2.50% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี พร้อมส่งสัญญาณว่า อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับเหมาะสมแล้ว
โดย “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% เป็นระดับที่เป็นกลาง เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจระยะยาว
จากมติ กนง.ดังกล่าว ส่งผลให้บรรดาธนาคารพาณิชย์มีการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย ทั้งเงินฝากและเงินกู้ตาม ๆ กันมา ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ เนื่องจากได้รับการร้องขอจากรัฐบาลให้ตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ก่อน อย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2566 นี้
ดังนั้น จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์กับแบงก์รัฐมีความแตกต่างกันมากขึ้น (ดูตาราง) โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์รัฐยังอยู่ต่ำกว่า 7% ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์พาณิชย์ขยับขึ้นไปเกิน 7% หมดแล้ว
“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารยืนหยัดดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งครัวเรือนบางส่วนที่ยังมีความเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ฟื้นตัวช้า รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการความช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้ลูกค้าได้รับความช่วยเหลือแบบตรงจุดและทันท่วงที และมาตรการช่วยเหลือพิเศษเพื่อแก้หนี้อย่างยั่งยืน
“ธนาคารจะเสนอแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงของลูกค้า พร้อมดำเนินนโยบายด้านสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน”
ขณะที่ “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในภาวะแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ธนาคารยังดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาระดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีมาตรการไว้รองรับ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้มีผลกระทบมาก และการช่วยเหลือยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังเป็นไปตามเป้าหมาย
“สินเชื่อกลุ่มที่ยังคงต้องติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิด ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ยังคงมีความเปราะบาง และสินเชื่อมีอัตราการเติบโตค่อนข้างช้า”
ด้านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แถลงว่า การช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อมีความจำเป็นมากกว่าการพักชำระหนี้ เนื่องจาก SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังฟื้นตัวได้ช้า และยังเข้าถึงสินเชื่อได้ไม่เต็มที่ เห็นได้จากยอดสินเชื่อ SMEs ที่ยังหดตัว และการสำรวจความเห็นของ SMEs โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่พบว่าต้องการเข้าถึงสินเชื่อมากกว่าการพักชำระหนี้
โดยควรสนับสนุนผลักดันให้กิจการของ SMEs สามารถมีความพร้อมรองรับโอกาสจากเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ high season ของภาคการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ และการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาลด้วยเม็ดเงินถึง 5.6 แสนล้านบาทในช่วงต้นปีหน้า
ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร.เสนอให้รัฐบาลใช้กลไกของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายการค้ำประกันสินเชื่อให้ SMEs เพิ่มอัตราการค้ำประกันจาก 30% เป็น 50-60% โดยบูรณาการการใช้กองทุนของ สสว.เป็นองค์รวม ช่วยสนับสนุนค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อลดต้นทุน และช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs
ด้าน “ธนเดช รังษีธนานนท์” Director of Research บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คาดการณ์กำไรสุทธิงวดไตรมาส 3/2566 ของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 8 บริษัท ประกอบด้วย SCB, KBANK, BBL, KTB, TTB, KKP, TISCO, TCAP จะอยู่ที่ 51,000-52,000 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10-15% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) แต่ปรับตัวลดลง 5% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ)
โดยสาเหตุที่กำไรปรับตัวลดลง QOQ สืบเนื่องจากแบงก์จะมีกำไรจากพอร์ตลงทุนลดลง ตามการปรับมูลค่าตามราคาตลาด (mark to market) ขณะที่ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ก็มีแบงก์ใหญ่รับรู้พอร์ตลงทุนไปค่อนข้างมาก
นอกจากนั้น โดยปกติแล้วในช่วงครึ่งปีหลัง แบงก์จะมีค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่สูงขึ้นด้วย จึงเป็น 2 เหตุผลหลักที่กดดันกำไร แม้ว่าพอร์ตสินเชื่อจะสามารถเติบโตได้ประมาณ 1% และมาร์จิ้นของแบงก์ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นดอกเบี้ย
“SCB จะเป็นตัวฉุดกำไรในภาพรวม เพราะ 1.สำรองหนี้ที่ยังสูง 2.เงินลงทุนลดลงจาก mark to market และ 3.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น”
“ธนเดช” กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมของแบงก์ยังแค่ทรง ๆ ตัว โดยถูกกดดันจากรายได้ค่าธรรมเนียมตลาดทุน ตามภาวะตลาดหุ้นไทยที่มีความผันผวนสูง วอลุ่มน้อย แต่จะได้รับประโยชน์จากรายได้ค่าธรรมเนียมการขายประกัน (แบงก์แอสชัวรันส์) เข้ามาช่วยได้บ้าง
“ส่วนทิศทางหนี้เสีย (NPLs) ค่อนข้างนิ่ง ทรง ๆ ตัวอยู่ที่ 3.6-3.7% เมื่อเทียบไตรมาส 2 แต่จากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า อาจจะยังเห็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจากฝั่งเอสเอ็มอีและรายย่อยที่เป็นกลุ่มเปราะบางได้ แต่ก็ยังไม่เป็นกังวล” Director of Research บล.พายกล่าว