เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ตลาดจับตาตัวเลขการจ้างงานสหรัฐ

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ตลาดจับตาตัวเลขการจ้างงานสหรัฐ ขณะที่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจทางด้านตลาดแรงงานในสหรัฐยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 2 ถึง 6 ตุลาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (2/10) ที่ระดับ 36.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/9) ที่ระดับ 36.43/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยปรับตัวอ่อนค่าสุดที่ระดับ 37.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันพุธ (4/10) ตามการแข็งค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังเงินบาทได้รับแรงกดดันจากกระแสเงินไหลออกจากการเทขายพันธบัตรและหุ้นไทย ขณะที่เงินดอลลาร์สหรับแข็งค่าอย่างมาก

               

จับตาตัวเลขจ้างงาน

โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 107 ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในรอบ 10 เดือน ต่อเนื่องจากการที่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจทางด้านตลาดแรงงานในสหรัฐยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

โดยคืนวันอังคาร (3/10) สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ซึ่งพบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้นเกือบ 700,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.61 ล้านตำแหน่งในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 8.8 ล้านตำแหน่ง

ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS เป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน นอกจากนั้นยังได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะ 4.85% ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 16 ปี อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์สหรับเผชิญแรงขายทำกำไร หลังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ รวมทั้งแรงกดดันเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ลดลง

โดยเมื่อคืนวันพุธ (4/10) ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐ ในเดือน ก.ย.เพิ่มขึ้น 89,000 ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 160,000 ตำแหน่ง และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่ง สำหรับการจ้างงานภาคบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น 81,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 8,000 ตำแหน่ง โดย ADP เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ค่าจ้างมีการขยายตัว 5.9% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบรายปี ถือเป็นการชะลอตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12

นอกจากนี้ เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ประจำเดือน ก.ย. ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 50.1 ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 50.2 และระดับ 50.5 ในเดือนก่อนหน้า หลังได้รับแรงกดดันจากการดิ่งลงของคำสั่งซื้อใหม่ โดยหากดัชนีดังกล่าวมีการปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 50 อาจจะบ่งชี้ได้ว่า ภาคบริการของสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะหดตัว

สำหรับดัชนีภาคบริการของสหรัฐ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า มีการปรับตัวลงสู่ระดับ 53.6 ในเดือน ก.ย. จากระดับ 54.5 ในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยดัชนีดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับลดลง

ส่วนตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่นักลงทุนให้ความสำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน ก.ย.ที่จะออกมาในวันศุกร์ (6/10) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 163,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ย. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานเดือน ก.ย.จะลดลงสู่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.8% ในเดือน ส.ค.

ปัจจัยในประเทศ เรียกความเชื่อมั่นท่องเที่ยว

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในช่วงบ่ายวันอังคาร (3/10) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่าค่าเงินบาทมีความผันผวนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า, ความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน และราคาทองคำที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากค่าเงินบาทของไทยมีความสัมพันธ์กับปัจจัยดังกล่าวอย่างมาก

สำหรับภายในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ กระแสเงินทุนต่างประเทศ (Flow) หลังมีแรงเทขายหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยทำนิวโลว์ นอกจากนี้ยังต้องติดตามมาตรการของรัฐบาลที่จะเรียกความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของนโยบายการท่องเที่ยวที่ได้โปรโมตออกไปแล้ว แต่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นมา จากเหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบทางตรงกับการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.56-37.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (6/10) ที่ระดับ 36.98/37.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (2/10) ที่ระดับ 1.0565/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/9) ที่ระดับ 1.0610/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเป็นผลมาจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ของยูโรโซน ซึ่งถูกเปิดเผยโดยสำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) อยู่ที่ระดับ 4.3 ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 และลดลง และลดลงจากระดับ 5.2% ในเดือน ส.ค. โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ เงินยูโรยังได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยผลสำรวจกิจกรรมทางเศรษฐกิจยูโรโซนของเอสแอนด์พี โกลบอล โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนลดลงสู่ระดับ 43.4 ในเดือน ก.ย. จากระดับ 43.6 ในดือน ส.ค.นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 บ่งชี้ว่าสถานการณ์ของภาคการผลิตยังคงไม่สู้ดีนัก

และมีการเปิดเผยอัตราว่างงานยูโรโซนอยู่ที่ระดับ 6.4% ในเดือน ส.ค. สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ปรับตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 6.5% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0449-1.0591 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (6/10) ที่ระดับ 1.0553/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (2/10) ที่ระดับ 149.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/9) ที่ระดับ 149.06/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีการเปิดเผยรายงานสรุปความคิดเห็น (Summary of Opinions) ของกรรมการ BOJ ในวันนี้ (2/10) โดยระบุว่า ในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ก.ย.นั้น กรรการ BOJ มีการหารือกันในหลากหลายปัจจัยเพื่อใช้ในการตัดสินใจว่าควรจะยุตินโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) หรือไม่

โดยนักวิเคราะห์จำนวนมากคาดว่า BOJ จะยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ค่าเงินเยนปรับตัวในกรอบแคบ หลังจากที่คืนวันอังคาร (3/10) ค่าเงินเยนอ่อนค่าแตะระดับสำคัญที่ 150 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เข้ามาแทรกแซงตลาด ทำให้ค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าแตะระดับ 147.32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกันนายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นกล่าวว่ารัฐบาลกำลังจับตาตลาดปริวรรตเงินตราอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินการเพื่อรักษาสเถียรภาพในตลาด ซึ่งส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจจะเข้าแทรกแซงตลาดเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.28-150.16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (6/10) ที่ระดับ 148.96/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ