เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ตลาดจับตาตัวเลขการจ้างงานสหรัฐ

เงินบาท-US dollar

เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ตลาดจับตาตัวเลขการจ้างงานสหรัฐ หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกทรงตัวที่ระดับ 209,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่เฟดย้ำ ยังมุ่งมั่นคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย

วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 16-20 ตุลาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (16/10) ที่ระดับ 36.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (12/10) ที่ระดับ 36.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงปรับตัวขึ้นภายหลังจากที่ในช่วงสุดสัปดาห์ก่อนหน้ากระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนกันยายนที่สูงขึ้นกว่าที่คาด

               

จับตาเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง

โดยดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.7% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% จากระดับ 3.7% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนกันยายน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.6% ในเดือนสิงหาคม

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 4.1% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 4.3% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนกันยายน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.3% ในเดือนสิงหาคม

ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกทรงตัวที่ระดับ 209,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 210,000 ราย ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกต่ำกว่าระดับ 210,000 ราย เป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 3,000 ราย สู่ระดับ 206,250 ราย

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 30,000 ราย สู่ระดับ 1.7 ล้านราย สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 1.68 ล้านราย นอกจากนั้นแล้วในช่วงสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากการเปิดตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาสูงขึ้นกว่าที่คาด

โดยยอดค้าปลีกสูงกว่าคาดในเดือนกันยายน ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น โดยยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 0.7% ในเดือนกันยายน สูงกว่าที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.3% โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายรถยนต์ และยอดขายของสถานีบริการน้ำมัน และหากไม่รวมยอดขายรถยนต์และน้ำมัน ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนกันยายน สูงกว่าที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.1%

ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนกันยายน หลังจากทรงตัวในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมเป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค ส่วนการผลิตของภาคโรงงานและภาคเหมืองแร่เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนกันยายน ขณะที่ภาคสาธารณูปโภคลดลง 0.3%

เฟดยังมุ่งมั่นคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้เริ่มอ่อนค่าลงในช่วงคืนวันพฤหัสบดี (19/10) ภายหลังจากที่มีการเปิดเผยถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมที่สมาคมเศรษฐกิจแห่งนิวยอร์ก (Economic Club of New York) ซึ่งระบุว่า เฟดยังคงมีความมุ่งมั่นควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย 2% โดยไม่ได้กล่าวผูกมัดเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของเฟดในอนาคตแต่อย่างใด ซึ่งตลาดมองว่า ถ้อยแถลงไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณแบบแข็งกร้าวตามที่ตลาดคาดไว้

โดยนายพาวเวลล์กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและตลาดแรงงานที่ยังคงตึงตัวของสหรัฐจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก พร้อมกับกล่าวว่าเงินเฟ้อของสหรัฐยังอยู่ในระดับสูงเกินไป และเฟดจะยังคงมุ่งมั่นต่อพันธกรณีในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน ซึ่งตลาดแรงงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องชะลอตัวลงเพื่อให้เฟดบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ

นายพาวเวลล์ยังได้กล่าวถึงการดำเนินนโยบายของเฟดในอนาคตว่า เมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น คณะกรรมการเฟดจะดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยการตัดสินใจเกี่ยวกับขอบเขตและระยะเวลาของการเพิ่มความเข้มงวดของนโยบายการเงินนั้น จะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เฟดได้รับ และแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในช่วงสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทมีความเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่จำกัด ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการปรับตัวอ่อนค่าในช่วงวันหยุดของไทย จากการที่สหรัฐเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงเกินคาดและตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น โดยการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในบางช่วงยังคงได้ผลมาจากการเคลื่อนไหวของราคาทองคำที่ได้รับแรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุนจากสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนั้นแล้วในวันพุธ (18/10) ค่าเงินบาทและค่าเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียยังได้รับแรงหนุนจากการรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนว่า จีนมีการเติบโต 4.9% ในไตรมาสเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนจากปีก่อนหน้า ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ สำหรับ GDP ไตรมาส 3 ที่ 4.6%

รัฐบาลยันเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

อนึ่งในช่วงต้นสัปดาห์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง และนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังได้ออกมาชี้แจงยืนยันว่า โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ประชาชนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป จะไม่มีการระงับ หรือยุติและจะเดินหน้าต่อตามที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายที่ทางพรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ในการเลือกตั้ง โดยรายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ จะมีความชัดเจนภายในเดือนตุลาคมนี้

และได้มีการยืนยันว่าทางพรรคได้ศึกษานโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยผู้เชี่ยวชาญมาตลอด ตั้งแต่ริเริ่มกระทั่งได้ข้อสรุปว่าสามารถปฏิบัติได้จริง โดยจะไม่เป็นภาระทางงบประมาณ ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.24-36.53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (20/10) ที่ระดับ 36.53/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (16/10) ที่ระดับ 1.0518/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (12/10) ที่ระดับ 1.0619/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ระหว่างสัปดาห์นายยานนิส สตูร์นาราส สมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และผู้ว่าการธนาคารกลางกรีซได้ออกมากล่าวว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสอาจจะสร้างความท้าทายใหม่ให้แก่เศรษฐกิจยุโรป นับตั้งแต่ปัญหาปั่นป่วนในตลาดพลังงานไปจนถึงการทะลักเข้ามาของผู้ลี้ภัยอาจสร้างผลกระทบให้เศรษฐกิจชะงักงัน แต่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง

ดังนั้น อาจมีการปรับเปลี่ยนการให้น้ำหนักกับการคุมเข้มนโยบายการเงินอีกครั้ง ขณะที่ในส่วนของการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -11.1 ในเดือนตุลาคม สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ -9.3 จากระดับ -11.4 ในเดือนกันยายน โดยได้รับแรงหนุนจากการคลายความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ

ส่วนดัชนีคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจดีดตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้่ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0505-1.0615 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (20/10) ที่ระดับ 1.0569/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (16/10) ที่ระดับ 149.46/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (12/10) ที่ระดับ 149.17/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในวันจันทร์ (16/10) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม ลดลงสู่ระดับ -0.7% จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.0% และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 0.0%

นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อของญี่ปุ่นขึ้นสู่ระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2% ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ในการประชุมนโยบายการเงินซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งจะทำให้ความพยายามในการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) ของ BOJ เป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.21-149.98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และเปิดตลาดในวันศุกร์ (6/10) ที่ระดับ 149.90/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ