ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง 16.02% แต่ยังอยู่ระดับร้อนแรง เหตุเงินทุนไหลเข้า-เศรษฐกิจไทยแกร่ง

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน เม.ย. 2561 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง 16.02% แต่ยังคงอยู่ในภาวะร้อนแรง (Bullish) เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยผลสำรวจระบุว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าการลงทุนจะได้รับผลดีจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ กับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ

โดยนักลงทุนติดตามปัจจัยจากต่างประเทศเป็นหลักโดยเฉพาะนโยบายทางการเงินสหรัฐฯ ที่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC เดือนมีนาคม และเห็นว่าเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นมากที่สุด นอกจากนี้ ยังเริ่มติดตามสถานการณ์ทางการเมืองที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งในอนาคตด้วย ส่วนด้านหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธุรกิจเหล็ก (STEEL)

ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือปัญหาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ลุกลาม ถึงขั้นเรียกว่าสงครามการค้า และยังไม่กระทบต่อหุ้นไทยมากนัก แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะกระทบไปยังประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับไทยหรือไม่ ซึ่งหากกระทบไปยังกลุ่ม ICT คาดว่าจะเป็นผลเสียกับสหรัฐมาก และประเทศอื่นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตามแนะนำนักลงทุนระยะสั้น หรือนักเก็งกำไรในช่วงนี้มีโอกาสทำกำไรได้ไม่สูงมากนัก เฉลี่ยเพียง 2-5% ส่วนการลงทุนระยะยาวที่เน้นลงทุนผ่านกองทุนรวม ต้องแบ่งสัดส่วนกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ ตั้งเป้าหมายการลงทุนของตนเอง อย่างไรก็ตาม ปีนี้ถือเป็นโอกาสของคนที่ถือเงินสด เพราะสามารถเข้าซื้อหุ้นในช่วงที่ราคาลงต่ำได้

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ และกรรมการผู้อำนวยการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนคาดการณ์ตลาดหุ้นไทยในอีก 1 เดือนข้างหน้า โดยส่วนใหญ่ 64.71% ประเมินดัชนีในระยะสั้นยัง Sideway หรือไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ซึ่งประเมินดัชนีจะกลับขึ้นไปค่าเฉลี่ยที่ 1,792 จุด ในช่วงสิ้นเดือน เม.ย. นี้

ทั้งนี้ประเมินดัชนีหุ้นไทย ณ สิ้นปีนี้มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,879 จุด ซึ่งกรอบค่าเฉลี่ยดัชนีหุ้นไทยระหว่างปีนี้จะขึ้นไประดับสูงสุดที่ 1,909 จุด และค่าเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 1,703 จุด ในระยะสั้นปัจจัยที่มีผลคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและคู่ค้า รองลงมาคือปัจจัยด้านเศรษฐกิจในประเทศ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน รวมถึงปัจจัยการเมือง

ส่วนภาพระยะยาวคาดมีปัจจัยในด้านบวกคือเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ จะมาเป็นประเด็นสนับสนุน ขณะที่ด้านลบคือเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ (เฟด) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจทั้งสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย รวมถึงการเมืองในประเทศ