ทำความรู้จักหุ้น TNR บริษัทที่มีโรงงานผลิตถุงยางอนามัยใหญ่สุดในโลก

ทำความรู้จักหุ้น TNR หรือ “ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้” บริษัทที่มีโรงงานผลิตถุงยางอนามัยใหญ่ที่สุดในโลก โรงเดียวผลิตได้กว่า 2,000 ล้านชิ้น

วันที่ 25 ตุลาคม 2566 รู้หรือไม่ว่า โรงงานผลิตถุงยางอนามัย ที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลกนั้น ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย บริหารควบคุมภายใต้บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อย่อหุ้นว่า TNR

โรงงานแห่งนี้ผลิตถุงยางอนามัย ภายใต้แบรนด์ ONETOUCH มานานกว่า 23 ปี แต่มีสัดส่วนรายได้แค่ 5% เท่านั้น เพราะอีกกว่า 95% เป็นการรับจ้างผลิต (OEM) ถุงยางอนามัยให้กับแบรนด์อื่น ๆ มากกว่า 600-700 แบรนด์ทั่วโลก และส่งออกไปแล้วกว่า 150 ประเทศทั่วโลก

“โรงงานหนึ่งโรงของ TNR ผลิตถุงยางอนามัยได้ประมาณ 2,000 ล้านชิ้น ซึ่งตอนนี้ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก อาจจะมีบางบริษัทในโลกนี้ที่ใหญ่กว่า TNR แต่กำลังการผลิตจะน้อยกว่าเมื่อเทียบต่อหนึ่งโรงงานที่ผลิตถุงยางอนามัย โดยโรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี”

วันนี้ประชาชาติธุรกิจจะพาไปทำความรู้จัก TNR และไปส่องผลประกอบการ ทั้งตัวรายได้และกำไรสุทธิว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

สำหรับ TNR ปัจจุบันประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายถุงยางอนามัย และเจลหล่อลื่น และมีบริษัทย่อยชื่อว่า บริษัท บ๊อก เอเชีย กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กระดาษ

ADVERTISMENT

เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยวันแรก เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2559 ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ มีนโยบายการจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นกลุ่มตระกูล “ดารารัตนโรจน์”

สำหรับราคาหุ้น TNR นับจากต้นปีถึงราคาปิดวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ปรับตัวลดลง 3.8 บาท หรือลดลง 31.15% โดยปิดตลาดวานนี้ปรับตัวลดลง 1.18% ยืนอยู่ที่ราคา 8.40 บาท

ADVERTISMENT

รายได้ต่อปีเกือบ 2 พันล้าน

สำหรับรายได้ของ TNR ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า

  • ปี 2563 มีรายได้รวม 1,760 ล้านบาท
  • ปี 2564 มีรายได้รวม 1,659 ล้านบาท
  • ปี 2565 มีรายได้รวม 1,990 ล้านบาท
  • 6 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้รวม 988 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.08% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY)

สำหรับกำไรสุทธิของ TNR ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า

  • ปี 2563 มีรายได้รวม 111 ล้านบาท
  • ปี 2564 มีรายได้รวม -464 ล้านบาท
  • ปี 2565 มีรายได้รวม 137 ล้านบาท
  • 6 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้รวม 54 ล้านบาท ลดลง 60.6% YOY

สำหรับต้นทุนและค่าใช้จ่ายรวมของ TNR ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า

  • ปี 2563 จำนวน 1,636 ล้านบาท
  • ปี 2564 จำนวน 2,282 ล้านบาท
  • ปี 2565 จำนวน 1,677 ล้านบาท
  • 6 เดือนแรกของปี 2566 มีจำนวน 926 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% YOY

ทั้งนี้ข้อมูลจนถึง 6 เดือนแรกของปีนี้พบว่า TNR มีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 1,839 ล้านบาท มีหนี้สินรวมอยู่ที่ 954 ล้านบาท โดยมี EBITDA อยู่ที่ 116 ล้านบาท

นายวิศิษย์ ฐิรายุวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน TNR กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 988 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.08% YOY โดยมาจากธุรกิจถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่น ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น 11 ล้านบาท และยอดขายสำหรับธุรกิจกล่องกระดาษ เพิ่มขึ้น 8.6 ล้านบาท

มีกำไรขั้นต้นของกลุ่มบริษัท จำนวน 248 ล้านบาท ลดลง 19.2 ล้านบาท เป็นผลจากต้นทุนวัตถุดิบ และค่าสาธารณูปโภคที่ใช้ในการผลิตที่ปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการขาย มีจำนวน 37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9 ล้านบาท เป็นผลมาจากการเพิ่มค่าใช้จ่ายการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย

ค่าใช้จ่ายในการบริหาร มีจำนวน 141 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.6 ล้านบาท เนื่องมาจากกลุ่มบริษัทมีค่าใช้จ่ายพิเศษเกี่ยวกับคดีความที่ศาลต่างประเทศ

รายการผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในงวด 6 เดือน มีจำนวน 10.5 ล้านบาท โดยค่าเผื่อผลขาดทุนด้านการให้เครดิตกับลูกหนี้การค้าที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยคำนวณจากยอดลูกหนี้การค้าที่คาดว่าจะเก็บเงินไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ดังนั้นผลจากการอ่อนค่าของเงินบาทไทยเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐกลุ่มบริษัท จึงบันทึกรายการผลขาดทุนด้านการให้เครดิตกับลูกหนี้การค้าที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เป็นผลจากการปรับปรุงมูลค่าของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น การปรับปรุงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐให้เป็นเงินบาทไทยด้วยอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันสิ้นงวด

กำไรสุทธิจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง

โดยในงวด 6 เดือน TNR ได้กำไรสุทธิจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง 22.8 ล้านบาท เนื่องมาจากการอ่อนค่าของเงินบาทไทยเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

  • โดยอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ปิดไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 35.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ปิดปี 2565 อยู่ที่ 34.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) อ่อนค่าเป็นจำนวน 1.04 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
  • ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ปิดไตรมาส 2/2565 อยู่ที่ 35.13 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ปิดปี 2564 อยู่ที่ 33.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) อ่อนค่าเป็นจำนวน 1.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
  • การอ่อนค่าของเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบในงวด 6 เดือน ไตรมาส 2/2566 กับไตรมาส 2/2565 ลดลงเป็นจำนวน 0.84 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามบริษัทมีการทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน