ดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่อง หลังตลาดคาดเฟดคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง หลังตลาดคาดเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม ข้อมูลจาก CME Fed watch Tool ชี้นักลงทุนกว่า 99% คาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.5%

วันที่ 24 ตุลาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 24 ตุลาคม 2566 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/10) ที่ระดับ 36.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ (20/10) ที่ระดับ 36.50/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐระยะ 10 ปีปรับตัวลดลง หลังทะลุระดับ 5.0% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 16 ปี

ซึ่งทางนายเจอโรมระบุว่าการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทำให้ภาวะการเงินตึงตัวและอาจส่งผลให้เฟดมีความจำเป็นน้อยลงในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยข้อมูลจาก CME Fed watch Tool ได้ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนกว่า 99% คาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.5%

               

นอกจากนี้นักลงทุนยังให้น้ำหนักกว่า 75% ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.5% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธันวาคมเช่นกัน ทั้งนี้นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อประเมินทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยเจ้าหน้าที่เฟด เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือนกันยายน โดยการส่งออกมีมูลค่า 25,476 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งขยายตัวผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่ายอดส่งออกจะหดตัว 1.75% เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าวที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เช่น โซลาร์เซลล์ และโทรทัศน์มือถือ ขยายตัวต่อเนื่อง เพราะเป็นสินค้าที่เติบโตตามเมกะเทรนด์ ส่วนทางด้านการนำเข้ามีมูลค่า 23,383 ล้านดอลลาร์ หดตัว 8.3% ส่งผลให้เดือนกันยายน ไทยเกินดุลการค้า 2,093 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 การส่งออกมีมูลค่ารวม 213,069 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.8% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 218,902 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปี 2566 ไทยขาดดุลการค้า 5,833 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.10-36.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่่ระดับ 36.14/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/10) ที่ระดับ 1.0671/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/10) ที่ระดับ 1.0590/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.00% ในการประชุมวันที่ 26 ต.ค. เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของยูโรโซนพุ่งสูงขึ้นเช่นเดียวกันกับสหรัฐ

ทั้งนี้ตลาดยังคงจับตาดูการตัดสินใจกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลดขนาดงบดุลของ ECB ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0643-1.0694 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0642/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/10) ที่ระดับ 149.58/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/10) ที่ 149.94/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทางญี่ปุ่นได้มีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อ Core CPI ในเดือนกันยายนอยู่ที่ 2.8% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 2.7% แต่ชะลอตัวจากเดือนสิงหาคม 3.1% โดยเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดในรอบ 13 เดือน

ทั้งนี้นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) หลังจากทางธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจมีการทบทวนนโยบายผ่อนคลายเป็นเงินแบบพิเศษ (Ultra-Joose Monetary Policy) เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อได้ยืนเหนือกรอบเป้าหมายที่ 2% อย่างต่อเนื่อง

รวมถึงการปรับเว้นอัตราผตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (YCC) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยอาจจะมีการปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อของญี่ปุ่นขึ้นสู่ระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ในการประชุมนโยบายการเงิน ซึ่งจะมีขึ้นในช่วง 30-31 ตุลาคม เพื่อปูทางสู่การยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.32-149.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.65/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. โดย S&P (24/10), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (26/10), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2566 (ประมาณการเบื้องต้น) (26/10), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือน ก.ย. (26/10), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน ก.ย. (27/10), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค. (27/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.7/-9.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.5/-7.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ