“ศุภชัย” มองช่วงวิกฤต เวลาที่ดีสุด สร้างความเปลี่ยนแปลง บนพื้นฐานความยั่งยืน

ศุภชัย เจียรวนนท์

“ศุภชัย” เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมเพล็กซ์ฯ มองช่วงวิกฤต ช่วงเวลาที่ดีสุด สร้างความเปลี่ยนแปลง บนพื้นฐานความยั่งยืน เดินหน้าสนับสนุนรัฐด้านนโยบายการเงินสีเขียว-ตราสารหนี้ยั่งยืน SLB เพื่อร่วมระดมทุน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ พัฒนาเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น กับรักษาสมดุลเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero

วันที่ 27 ตุลาคม 2566 นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมเพล็กซ์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาเปิดตัว “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับบริษัทจดทะเบียนและมาตรฐานผลกระทบ SDG จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ว่า

ขอให้เรามองข้ามวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองโลก ตลอดจนความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ที่เรากำลังมองออกไปในปีต่อ ๆ ไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคงไม่มีช่วงเวลาไหนที่จะดีไปกว่าช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ ที่เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงและหยั่งรากลึกบนพื้นฐานของความยั่งยืน

               

ประกอบด้วยการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals : SDGs และ ESG ที่พวกเราทำกันอยู่ ซึ่งคงไม่มีเวลาไหนที่จะเหมาะไปกว่านี้แล้ว ที่เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตลาดหลักทรัพย์ของไทย รวมทั้งระบบเศรษฐกิจไทย

โดยสมาคมได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและเปิดตัวคู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน ฉบับแรกของไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสมาคมเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ได้รณรงค์ให้บริษัทจดทะเบียนทุกประเทศทั่วโลก จัดทำและเปิดเผยรายงานด้านความยั่งยืนต่อสาธารณะ เพราะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

และช่วงที่ผ่านมา ที่สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งเสริมการจัดทำรายงาน One-Report ขับเคลื่อนให้บริษัทจดทะเบียน ผนวกกับการรายงานด้านความยั่งยืนไว้เป็นระบบ รวมทั้งความร่วมมือจากสหประชาชาติโดยเฉพาะ UNDP

ซึ่งพบว่า 81% ของบริษัทจดทะเบียนไทย 100 อันดับแรก ได้เชื่อมโยงการประกอบธุรกิจเข้ากับเป้าหมาย SDG แล้ว ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี คู่มือที่เปิดตัวในวันนี้จะช่วยต่อยอด แต่ละบริษัทคำนึงต่อยอดจาก ESG ที่มุ่งเน้นการลดความเสี่ยงให้คำนึงถึง SDG ซึ่งนำการทำประโยชน์ต่อส่วนร่วมมาประกอบการพิจารณาด้วย

“ข้อมูลที่เกิดจากรายงานเหล่านี้มีค่ามหาศาล ดังคำกล่าวที่ว่า ”ข้อมูลเปรียบเสมือนทองคำ หรือน้ำมันในอากาศ“ การบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อไป” นายศุภชัยกล่าว

ดังนั้น สมาคมจึงสนับสนุนให้นำเอไอมาปรับใช้ ต่อยอดข้อมูลองค์ความรู้ขับเคลื่อนอย่างแม่นยำอย่างน้อยใน 3 เรื่องคือ 1.การสนับสนุนนโยบายการเงินสีเขียว หรือ Green Finance mechanism และตราสารหนี้ยั่งยืน SLB ของรัฐบาล เพื่อร่วมระดมทุน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

2.การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สอดคล้องกับ paris agreement ภายในปี 2030 ที่ต้องลดจาก 3.9 ตันคาร์บอนต่อหัวประชากร เหลือ 2.0 ตันคาร์บอนต่อหัวประชากร หรือประมาณ 50%

และ 3.การพัฒนาเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่ต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า โดยมีประมาณการภายในปี 2030 อุตสาหกรรม IOT และไอซีทีทั้งโลกจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีก 50% ของความต้องการปัจจุบัน คือเป็นประมาณ 3,200 ล้านเมกะวัตต์ กับการรักษาสมดุลเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ที่เน้นให้ภาคส่วนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พึ่งพาพลังงานสะอาดมากขึ้น

”เรามีข้อมูลที่ชัดเจนของภาคเอกชนจากระบบเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อประกอบการวางนโยบาย ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุ SDG ได้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน การใช้คู่มือนี้จะทำรายงาน ไม่ควรจำกัดเพียงแค่บริษัทจดทะเบียน แต่ควรขยายถึงบริษัทไม่จดทะเบียนด้วย โดยเฉพาะบริษัทในซัพพลายเชน เพื่อให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถใช้ประโยชน์จากคู่มือนี้ได้ด้วย“ นายศุภชัยกล่าว