22 บ.ประกันสนองนโยบายรัฐร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี”61 ดีเดย์ 10 เม.ย.นี้

22 บริษัทประกันวินาศภัย ตอบสนองนโยบายภาครัฐขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวนาปี 2561 เป็นปีที่ 8 นัดเดินสายลงพื้นที่จัดอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) รวม 10 จังหวัด ครอบคลุมทุกภาค เปิดคิกออฟที่จังหวัดเชียงใหม่ สรุปผลการจัดอบรม 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2560) มีผู้ร่วมการอบรมกว่า 4,000 คน และปี 2561 อีกกว่า 2,000 คน รวมทั้งสิ้น 27 จังหวัด

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยเดินหน้าขับเคลื่อนสนองนโยบายของรัฐบาลเรื่องการประกันภัยข้าวนาปีอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 10 เมษายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ฤดูกาลผลิตปี2561 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอและเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการปีการผลิต 2560โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการรับประกันภัยไว้ที่ 30 ล้านไร่ แบ่งเป็นเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. จำนวน 29 ล้านไร่ และเกษตรกรทั่วไป จำนวน 1 ล้านไร่ โดยคิดเบี้ยประกันภัยและความคุ้มครองในอัตราเดิมคือ ค่าเบี้ยประกันภัย 90 บาท/ไร่ ให้คุ้มครองความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งหมด 6 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็งลูกเห็บและไฟไหม้ วงเงินความคุ้มครอง 1,260 บาท/ไร่ และกรณีเกิดความเสียหายจากภัยศัตรูพืชและโรคระบาด วงเงินความคุ้มครอง 630 บาท/ไร่

สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปี 2561 นี้ รัฐบาลให้การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรในอัตรา 54 บาทต่อไร่ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ในอัตรา 36 บาทต่อไร่ ตามเงื่อนไขวงเงินกู้ของ ธ.ก.ส. และเกษตรกรสามารถซื้อประกันภัยเพิ่มเติมเองให้เต็มพื้นที่การเพาะปลูกได้ เพื่อที่จะได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน สำหรับเกษตรกรที่ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. สามารถซื้อประกันภัยเองได้ในอัตรา 36 บาท/ไร่ โดยภาครัฐยังช่วยอุดหนุนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าอากรแสตมป์ทั้งหมดด้วยเหมือนเดิม ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการโดยซื้อกรมธรรม์ประกันภัยได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2561 ในทุกภาค ส่วนพื้นที่ภาคใต้ จะสิ้นสุดการรับประกันภัยในวันที่ 15 ธันวาคม 2561

นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ในปีนี้มีบริษัทสมาชิกของสมาคมฯ เข้าร่วมรับประกันภัยในโครงการประกันภัยข้าวนาปี จำนวนทั้งสิ้น 22 บริษัท ได้แก่ 1. บมจ. กรุงเทพประกันภัย 2. บมจ.กรุงไทยพานิชประกันภัย 3. บมจ.เจนเนอราลี่ประกันภัย (ไทยแลนด์) 4. บมจ.ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) 5.บมจ.ทิพยประกันภัย 6. บมจ.เทเวศประกันภัย 7. บมจ.ไทยพัฒนาประกันภัย 8. บมจ.ไทยไพบูลย์ประกันภัย 9. บมจ.ไทยศรีประกันภัย 10. บมจ.นวกิจประกันภัย 11. บมจ.นำสินประกันภัย 12. บมจ.บางกอกสหประกันภัย 13. บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ 14. บมจ.ฟอลคอนประกันภัย 15. บจ.มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ สาขาประเทศไทย 16. บมจ.เมืองไทยประกันภัย 17. บมจ.วิริยะประกันภัย 18. บมจ.สยามซิตี้ประกันภัย 19. บมจ.สินมั่นคงประกันภัย 20. บมจ.ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย 21. บมจ.อาคเนย์ประกันภัย 22. บมจ.แอกซ่าประกันภัย ซึ่งสมาคมฯ ได้ยื่นขอรับความเห็นชอบแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีปีการผลิต 2561 กับสำนักงาน คปภ. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับผลการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560ที่ผ่านมาปรากฏว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1.76 ล้านราย มีพื้นที่รับประกันภัย จำนวน 22.12 ล้านไร่ มีเบี้ยประกันภัยรับสุทธิจำนวน1,990,672,083.25 บาท และได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกร จำนวน 1,933,201,461 บาท คิดเป็นพื้นที่รวม 1,534,287 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 9 เมษายน 2561) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย99.98% วาตภัย 0.01% และศัตรูพืชระบาด 0.01% โดยจังหวัดที่มียอดการจ่ายสินไหมทดแทนสูงสุด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดร้อยเอ็ด คิดเป็น 31.25% ของยอดค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด

ในปีนี้สมาคมฯ ได้ร่วมกับสำนักงานคปภ. เดินสายลงพื้นที่พบปะเกษตรกรเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการที่ผ่านมา พร้อมกับจัดอบรมโครงการ “อบรมความรู้ประกันภัย (Trainingfor the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปี ประจำปี 2561” รวม 10 จังหวัด โดยเริ่มเปิดการอบรมครั้งแรกที่ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 29-30 เมษายนนี้ ต่อจากนั้นเดินสายลงพื้นที่ต่อที่จังหวัดลพบุรี กำแพงเพชร พะเยา มหาสารคาม ชัยภูมิ สุรินทร์ ศรีษะเกษ กาญจนบุรี และปิดการอบรมที่จังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดสุดท้าย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอำเภอ อบต. ธ.ก.ส. คปภ.จังหวัด รวมถึงประชาสัมพันธ์จังหวัดและสื่อมวลชนท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อนำความรู้ด้านประกันภัยไปถ่ายทอดกับเกษตรกรในพื้นที่ให้ตระหนักถึงการจัดการบริหารความเสี่ยงด้วยระบบประกันภัย


“ภาคธุรกิจประกันวินาศภัยขอขอบคุณภาครัฐในการดำเนินนโยบายโครงการประกันภัยข้าวนาปี เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้เข้าถึงระบบการประกันภัยพืชผล (Agriculture Insurance) และตระหนักถึงประโยชน์ของการนำเอาระบบการประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงเฉกเช่นนานาประเทศที่ใช้และเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ประเทศไทยติดอันดับในกลุ่ม 5 ประเทศของเอเชียที่มีการเข้าถึงระบบการประกันภัยพืชผลสูงสุด รองจากประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และไทย ตามลำดับ ซึ่งภาคธุรกิจประกันวินาศภัยไทย สามารถบริหารจัดการระบบของโครงการประกันภัยข้าวนาปีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว”นายจีรพันธ์กล่าว