แบงก์ดึง “บิ๊กดาต้า” ปล่อยกู้ เช็กเครดิตค่าน้ำ-ไฟ-มือถือ

แบงก์ชาติหนุนส่งเสริมธุรกรรม “อีเพย์เมนต์” หวังสร้าง “บิ๊กดาต้า” ให้ธนาคารใช้ปล่อยสินเชื่อ และบริหารความเสี่ยง ส่องทั้งประวัติชำระ “ค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่ามือถือ” เอสซีบีเผยเตรียมเข้าสู่ยุคปล่อยกู้ด้วยข้อมูลแทนใช้ “สินทรัพย์” เป็นหลักประกัน เดินหน้าส่ง “แม่มณี” เพื่อเกาะติดข้อมูลธุรกรรมของลูกค้า “เอสเอ็มอีแบงก์” ประเดิม MOU ใช้ข้อมูลค่าน้ำ-ค่าไฟพิจารณาสินเชื่อ

เข้าสู่ยุคปล่อยกู้ด้วย “บิ๊กดาต้า”

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากพูดถึงรูปแบบการปล่อยสินเชื่อในอนาคต สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะเห็นรูปแบบการปล่อยสินเชื่อที่หลากหลายมากขึ้น และสิ่งที่ ธปท.ร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่น ๆ คือพยายามส่งเสริมให้ไปใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพย์เมนต์ เพราะอนาคตข้อมูลบนอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัล จะเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการนำไปใช้พิจารณาเพื่อปล่อยสินเชื่อในอนาคต ทำให้รูปแบบการให้สินเชื่อเปลี่ยนไป จากเดิมที่เวลาให้สินเชื่อจะดูจากหลักประกัน เปลี่ยนไปสู่การดูข้อมูลแทนข้อมูลการชำระเงินต่าง ๆ ถือเป็น

ข้อมูลที่สำคัญที่จะใช้ในการปล่อยสินเชื่อ และการบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น และการที่มีข้อมูลจากบิ๊กดาต้าจะช่วยลดต้นทุนของการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีได้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักประกัน หรืออาจไม่มีประวัติการทำธุรกิจมานาน

ไม่เพียงแค่ข้อมูลการชำระเงิน ประวัติการซื้อขายสินค้าเท่านั้น แต่การนำข้อมูลสาธารณูปโภค เช่น การชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์มือถือ เหล่านี้มาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง (information based lending) ได้ ทำให้การปล่อยสินเชื่อในอนาคตอาจไม่ต้องอ้างอิง หรือพึ่งพาเฉพาะข้อมูลแบบเดิม ๆ เหมือนในอดีตแล้ว

“การที่เรามีข้อมูลมากขึ้น ทั้งข้อมูลการชำระเงิน การใช้น้ำ ไฟ การชำระสินค้าต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นข้อมูลที่สำคัญมากในอนาคต เพราะจะใช้มาอ้างอิงและใช้เป็นข้อมูลประกอบการให้สินเชื่อ เช่น หากจะดูว่าการผลิตของผู้ประกอบการเป็นอย่างไร เพิ่มขึ้นหรือไม่ ไปดูแค่ตัวเลขอาจไม่ชัดเจน ดังนั้นการเข้าไปดูปริมาณการใช้ไฟจริง ๆ ก็อาจเป็นตัวที่คอนเฟิร์มได้มากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกนำมาใช้มากขึ้นในอนาคต” นายวิรไทกล่าว

SCB ส่ง “แม่มณี” เกาะข้อมูล

ด้านนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส chief marketing officer ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวว่า เมื่อรายได้ค่าธรรมเนียมบางส่วนของแบงก์หดหายไป แบงก์ก็ต้องหาวิธีอื่น ๆ ในการสร้างรายได้ แต่สิ่งที่ได้จากการยกเลิกค่าฟี คือ ทำให้คนหันไปทำธุรกรรมบนมือถือมากขึ้น เกมเงินฝากในอนาคตก็จะอยู่บนแพลตฟอร์มมือถือ รวมทั้งการใช้ data มาปล่อยสินเชื่อ โดยสิ่งที่ธนาคารพยายามทำ คือการทำให้คนเข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์มโมบายแบงกิ้งมากขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีข้อมูลมากพอที่จะสร้างดาต้า จนสามารถใช้เป็นข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าเพื่อไปปล่อยกู้ แทนการปล่อยกู้จากสินทรัพย์ (asset) เหมือนในอดีต ที่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ หรือบัญชีเงินเดือน

“อย่างไรก็ตาม การใช้ดาต้าเพื่อปล่อยกู้ก็ยอมรับว่าไม่ง่ายนัก กระบวนการปล่อยกู้โดยใช้ดาต้าต้องอาศัยพาร์ตเนอร์ระดับโลกมาช่วย โดยสิ่งที่แบงก์ทำอยู่ปัจจุบันยังเป็นการใช้ข้อมูลจากธุรกรรมการเงินเบสิก ต่างกับอาลีบาบาของจีนที่การปล่อยกู้ใช้ข้อมูลทางจิตวิทยา ความสัมพันธ์ของเพื่อน การใช้จ่ายเงิน พฤติกรรมด้านต่าง ๆ นำมาประมวลผลเพื่อใช้ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ” นายธนากล่าว และว่า

ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมธนาคารต้องทำ “แม่มณี” ก็เพื่อให้แบงก์มีข้อมูลพฤติกรรมต่าง ๆ ของร้านค้ามากพอจนนำไปสู่การปล่อยกู้ได้ในอนาคต

“เมื่อมีดาต้าแล้วจะทำให้แบงก์สามารถเข้าไปปล่อยสินเชื่อจากความสามารถในการชำระหนี้ได้ และให้ดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับลูกค้าที่ดีได้ หากธนาคารมีข้อมูลมากพอที่จะวิเคราะห์ว่าคนไหนดี ไม่ดี และจะทำให้ธนาคารให้ดอกเบี้ยที่ถูกลงกับคนดีได้ ที่ผ่านมาแบงก์ไม่สามารถแยกแยะได้ชัดว่าคนไหนดีหรือไม่ดี แบงก์ก็ปล่อยกู้โดยให้ดอกเบี้ยเท่า ๆ กัน เอาดอกเบี้ยของลูกค้าดีไปเฉลี่ยโปะที่ไม่ดี แต่ดาต้าจะช่วยระบุตัวคนดีได้ ทำให้คนดีได้รับรีวอร์ดจากการที่จะได้รับดอกเบี้ยต่ำกว่า”

นอกจากนี้ ข้อมูลจากพฤติกรรมของผู้บริโภคยังจะทำให้แบงก์สามารถพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่มีรถ ไม่มีบ้าน ได้ง่ายขึ้น จากปัจจุบันที่ปล่อยกู้ยากมาก เพราะไม่รู้ว่าความเสี่ยงเป็นอย่างไร ซึ่งหากแบงก์มีข้อมูลมากขึ้นก็จะทำให้สามารถเข้าใจลูกค้าและขยายฐานลูกค้าได้อีกมาก

ข้อมูลช่วย “ลดความเสี่ยง”

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ธนาคารมีการเก็บข้อมูลมากมายเพื่อนำมารวมไว้เป็นดาต้า เพื่อใช้ในการปล่อยสินเชื่อและใช้วิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าแต่ละคนได้ เช่น การนำข้อมูลบนโมบายแบงกิ้ง หรือเคพลัส ที่สามารถดูประวัติการชำระเงิน การใช้จ่ายเงิน เหล่านี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ปัจจุบันนี้ธนาคารก็มีการนำข้อมูลการชำระบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ของลูกค้า เพื่อนำมาวิเคราะห์สินเชื่อด้วย เพราะเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นถึงสถานะการดำเนินกิจการ และรายได้ของกิจการที่ใกล้เคียงความจริงมากขึ้น และอนาคตก็อาจมีการนำข้อมูลต่าง ๆ เข้ามา ทำให้ธนาคารมีดาต้าเพิ่มขึ้น เช่น ข้อมูลโซเชียล จากการโพสต์ข้อความ หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อมาใช้วิเคราะห์ด้วย

“ข้อมูลทำให้เราเห็นอะไรมากขึ้น แม้ว่าบางคนจะอยู่ใต้เส้นที่แบงก์จะสามารถปล่อยกู้ได้ แต่หากมีข้อมูลการชำระค่าน้ำค่าไฟที่ดีมาโดยตลอด ก็อาจเป็นข้อมูลอีกด้าน การมีดาต้าจะทำให้แบงก์เข้าใจลูกค้ามากขึ้น และสามารถระมัดระวังได้มากขึ้น ตอนนี้แบงก์ก็มีข้อมูลเยอะมาก ทั้งข้อมูลเงินเข้าออก พฤติกรรมการชำระหนี้แต่ละคนเป็นอย่างไร เหล่านี้จะทำให้เราค่อย ๆ เข้าใจลูกค้า”

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวอีกว่า อีกด้านหนึ่งการนำข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ ต้องอาศัยข้อมูลจากหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งบางครั้งก็อาจมีข้อจำกัดเพราะอาจติดปัญหาเรื่องเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งการนำข้อมูลต่าง ๆ ก็อาจต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนบุคคลด้วย

ธพว.ดึงค่าน้ำ-ค่าไฟปล่อยกู้

ก่อนหน้านี้ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้มีการร่วมลงนามกับรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เพื่อบันทึกข้อตกลงในการบูรณาการข้อมูลเพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนสู่การเป็น big data ของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ ยังให้ ธพว. พิจารณาปล่อยสินเชื่อจากฐานข้อมูลการใช้น้ำใช้ไฟของผู้ประกอบการ ช่วยให้การพิจารณาสินเชื่อมีโอกาสได้รับดอกเบี้ยที่ถูกลงได้

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า การนำข้อมูลค่าน้ำ ค่าไฟ มาใช้ จะทำให้แบงก์สามารถรู้สถานะ ชื่อผู้จดทะเบียน ใช้ยืนยันตัวตนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยว่าขอมิเตอร์น้ำ ไฟ มานานเท่าไร ประวัติการใช้น้ำ ใช้ไฟ ชื่อผู้จดทะเบียน ถือเป็นข้อมูลที่ช่วยยืนยันทางการค้าให้เอสเอ็มอีได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปหาหลักฐานอื่นในการขอสินเชื่อ

กสิกรฯชี้ยุคนี้ “ข้อมูลมีค่า”

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนี้เริ่มเห็นสถาบันการเงินเริ่มมีการเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำไปรวบรวมเป็นดาต้ามากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลให้มากพอ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และใช้ปล่อยสินเชื่อได้ ถือเป็นข้อมูลสำคัญในอนาคต เพราะจะเป็นตัวชี้พฤติกรรมของแต่ละคนได้ ทำให้สามารถโฟกัสลูกค้าถูกกลุ่ม ถูกคน และสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้วิเคราะห์การใช้บริการทางการเงินของประชาชนอย่างแม่นยำขึ้น

“ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าโทรศัพท์ จะบอกได้ว่าพฤติกรรมใช้จ่ายต่อเดือนของคนนี้เป็นอย่างไร สะท้อนให้เห็นภาระ ของแต่ละคนได้มากขึ้น ทุกวันนี้หลายหน่วยงานพยายามเก็บข้อมูลต่าง ๆ ให้มากที่สุด และต้องวิเคราะห์ไปถึงว่า ข้อมูลที่ได้มาจะสามารถใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ซึ่งต่างกับแต่ก่อนที่โลกไม่มี AI ไม่มีบิ๊กดาต้า แต่วันนี้ข้อมูลเหล่านี้กลับกลายมาเป็นประโยชน์มหาศาล”

 

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”