“เครดิตบูโร” อ้าแขนรับ นาโนฯ-ฟินเทค เข้าถึงถังบิ๊กดาต้า

คนที่เคยขอสินเชื่อ ส่วนใหญ่จะได้คุ้น ๆ คำว่า “เครดิตบูโร”เพราะแบงก์หรือสถาบันการเงิน (ที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร) มักจะอ้างว่าจะต้องตรวจสอบข้อมูลของผู้ขอกู้เงินก่อนว่ามีประวัติการชำระหนี้อย่างไร เพื่อประกอบการตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากเครดิตบูโร จะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเครดิตของลูกหนี้ต่าง ๆ มาเป็นเวลาราว 10 กว่าปีที่ผ่านมา จนเป็น “ถังข้อมูลใหญ่” อีกถังที่สำคัญของประเทศไทยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นอีกแหล่ง “บิ๊กดาต้า” ในโลกดิจิทัล ที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจในระยะข้างหน้าได้

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา “สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อมูลของเครดิตบูโรมีความลึก อีกทั้งยังสามารถเจาะลึกเข้าไปดูพฤติกรรมทางการเงินตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า ลูกหนี้แต่ละรายมีประวัติการชำระสินเชื่อ จำนวนการขอสินเชื่อมีทั้งหมดกี่บัญชี ยอดเงินสินเชื่อรวม ยอดค้างชำระ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นเหมือนสถิติที่เก็บสะสมไว้ ทำให้สมาชิกเครดิตบูโรหรือผู้ที่ใช้ข้อมูลสามารถเห็นอะไรในเชิงลึกมากขึ้น จึงทำให้มีผู้ให้บริการโดยเฉพาะธุรกิจการเงินที่เพิ่งเข้ามาตลาดสินเชื่อรายย่อย อยากเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งก็หมายถึงจะต้องเข้ามาเป็นสมาชิกของ “เครดิตบูโร” นั่นเอง

เขากล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เครดิตบูโรมีสมาชิกใหม่ 2-3 ราย ที่สนใจมาสมัครสมาชิกแล้ว โดยเฉพาะกลุ่ม “นาโนไฟแนนซ์” ที่ต้องการนำข้อมูลของเครดิตบูโรไปใช้วิเคราะห์การปล่อยกู้ได้มากขึ้น หรือประเมินความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ได้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้เครดิตบูโรน่าจะมีสมาชิกรวมอย่างน้อย 102 ราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 99 ราย

โดยในวันนี้ แม้ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์บางรายจะยังไม่เข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร แต่ธุรกิจเหล่านี้สามารถใช้ข้อมูลของตัวเอง เช่น ข้อมูลเพย์เมนต์ (การชำระเงิน) ข้อมูลการซื้อขายสินค้า เพื่อนำไปใช้ปล่อยกู้ให้ลูกค้ารายย่อยแล้ว

แต่หากนาโนไฟแนนซ์ขอเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร จะยิ่งทำให้เห็นตัวตนลูกค้าเชิงลึกได้มากขึ้น จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการปล่อยได้กู้ และรู้ระดับความเสี่ยงในการปล่อยกู้ได้ดียิ่งขึ้นด้วย

และหากดูข้อมูลจากการปล่อยสินเชื่อของธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ปัจจุบันพบว่า มีการปล่อยกู้แล้ว 4 แสนบัญชี และคุณภาพหนี้เสียแค่ 1.4% ซึ่งต่ำมาก หากเทียบกับเอ็นพีแอลสินเชื่อรายย่อยที่แบงก์ปล่อยอยู่ ดังนั้นหากนาโนไฟแนนซ์เหล่านี้ สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกเครดิตบูโรได้ และเห็นข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าละเอียดขึ้น จะยิ่งทำให้การปล่อยกู้ของธุรกิจนาโนฯมีศักยภาพขึ้น จนในที่สุดธุรกิจนาโนฯ จะมีบทบาทมากขึ้นในตลาดสินเชื่อ จนแบงก์อาจถูกดิสรัปต์เร็วขึ้นก็ได้

“เป็นที่น่าแปลกใจว่า แม้ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์จะยังไม่ได้เป็นสมาชิกเครดิตบูโร แต่เขาสามารถใช้ข้อมูลของตัวเอง เข้าไปปล่อยกู้ลูกค้าในเครือข่ายเขาเองได้แล้ว วันนี้มีการปล่อยกู้รวม ๆแล้วอยู่ที่กว่า 4 แสนบัญชี และมีเอ็นพีแอลต่ำเพียง 1.4% เท่านั้น แต่หากนาโนไฟแนนซ์เหล่านี้เข้ามาเป็นสมาชิกเครดิตบูโร เขาจะเข้าถึงฐานข้อมูลลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่า ในที่สุดเขาจะมีบทบาทมากขึ้น และเข้ามาดิสรัปต์วงการแบงก์อย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้” นายสุรพลกล่าว

และหากภายในปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการแก้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต เพื่อเปิดให้ธุรกิจ “ฟินเทค” เข้ามาเป็นสมาชิกเครดิตบูโรได้ ก็จะยิ่งทำให้ฟินเทคต่าง ๆสนใจเข้ามาเป็นสมาชิกเครดิตบูโรเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าอาจทำให้ปีนี้อาจเห็นสมาชิกขึ้นไปแตะ 110 รายก็เป็นไปได้

“สุรพล” สะท้อนภาพในระยะข้างหน้าว่า หากมีลูกค้าใหม่พวกฟินเทคแห่เข้ามาขอเป็นสมาชิกของเครดิตบูโรอย่างมากมาย จะยิ่งทำให้เห็นปรากฏการณ์ “ดิสรัปต์” ในโลกดิจิทัลทางการเงินเปลี่ยนแปลงได้ไวยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจการเงินเกิดใหม่ที่พร้อมจะเข้ามา “แย่งชิง” มาร์เก็ตแชร์ในตลาดสินเชื่อรายย่อยในอนาคต เพราะทุกวันนี้สัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ในตลาดสินเชื่อรายย่อย พบว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีมาร์เก็ตแชร์แค่ 33% ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สัดส่วน 25.5% ขณะที่น็อนแบงก์ (มิใช่สถาบันการเงิน) มีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30.6% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ถือเป็นอีกสัญญาณที่บ่งชี้ว่า วันนี้ ตลาดสินเชื่อรายย่อย ไม่มีใครเป็น big player (ผู้เล่นรายใหญ่) แล้ว และคงจะเห็นเกมแข่งขันที่ดุดันขึ้นแน่นับจากนี้ไป