2 แบงก์อัพ “โซลูชั่น-บริการ” มัดใจรายย่อย

แบงก์แห่ปั้นโซลูชั่นป้อนบริการ หวังกวาดลูกค้ารายย่อย “ค้าออนไลน์-นักศึกษา-เอสเอ็มอี” เคแบงก์ชูฟีเจอร์ใหม่แอป K-Plus เร่งฟอร์มทีมงาน งัดคลิปวิดีโอออนไลน์ สอนลูกค้าใช้โซลูชั่น เช่น social payment คิวอาร์โค้ด ส่วน “ทีเอ็มบี” อัดสิทธิประโยชน์ TMB BIZ WOW เข็น “สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ” รับหลักประกันเครื่องจักร

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันของธุรกิจทางการเงินในปัจจุบัน ทำให้ธนาคารต้องปรับตัวด้านบริการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างโซลูชั่นใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับบริการและโปรดักต์ที่มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีแอปพลิเคชั่น K-Plus ที่เป็นแพลตฟอร์มโมบายแบงกิ้งของธนาคาร เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงการใช้บริการได้สะดวกยิ่งขึ้น และในไตรมาส 2/2561 นี้ จะออกโซลูชั่นใหม่ให้บริการกลุ่มผู้ค้าทางออนไลน์ ซึ่งธนาคารมีฐานลูกค้ากลุ่มนี้กว่า 3 ล้านราย

โดยโซลูชั่นที่ออกใหม่จะเชื่อมโยงระหว่างธนาคารกับพันธมิตร ทั้งระบบชำระเงิน โลจิสติกส์ ระบบบัญชี โซเชียลมีเดีย การจัดการเงินสด ฯลฯ ซึ่งเสริมกับฟังก์ชั่นที่ออกมาเมื่อต้นปี ในชื่อ social payment (ขายและเรียกเก็บเงินผ่านโซเชียลมีเดีย) เพื่อส่งบิลเป็นคิวอาร์โค้ดและชำระผ่านโมบายแบงกิ้งทุกธนาคาร

“เราเร่งทำระบบไอที ทำแอปหน้าบ้านให้ใช้จ่ายง่ายขึ้น ตอนนี้เรามีโซลูชั่นให้ลูกค้าเยอะมาก ทั้งแพลตฟอร์ม K-Plus คิวอาร์โค้ด social payment แต่หลายอย่างที่ลูกค้ายังไม่รู้จัก ซึ่งนิสัยของลูกค้าทุกวันนี้ คือ ถ้าจะใช้ถึงจะเสิร์ชหาวิธีการใช้ ดังนั้น เราพยายามเพิ่มช่องทางเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น เช่น การทำคลิปวิดีโอออนไลน์ เรายังศึกษาเรื่องแชตบอตเพื่อตอบคำถามลูกค้า และขยายทีมดูแลลูกค้ามากขึ้น ซึ่งการให้ความรู้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำง่าย ๆ” นายพัชรกล่าว

ส่วนความคืบหน้าของโครงการ “CU NEX” ที่บริษัทกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาบริการสอดรับกับดิจิทัลไลฟ์สไตล์ เช่น การใช้ QR payment ในโรงอาหาร ฯลฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่มนิสิตจุฬาฯที่มีกว่า 4 หมื่นราย และที่สำคัญคือธนาคารจะได้ฐานข้อมูล เพื่อวิเคราะห์และต่อยอดการให้บริการในอนาคต

นางสาวเทียนทิพย์ นาราช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ปัญหาการพัฒนาธุรกิจของเอสเอ็มอี คือ การหาตัวช่วยในการต่อยอดธุรกิจและสินเชื่อที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกค้าขยายธุรกิจได้ดีขึ้น และที่สำคัญ การสร้างสิทธิประโยชน์ที่จูงใจแก่ลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งโปรดักต์ TMB BIZ WOW ให้ลูกค้าที่ทำธุรกรรมกับธนาคารสามารถแลกเป็นรางวัลต่าง ๆเช่น ส่วนลดการส่งของ คอร์สเรียนเพื่อต่อยอดธุรกิจ ฯลฯ และครึ่งปีหลังนี้จะเห็นโปรดักต์ใหม่ ๆ ออกมาถี่ขึ้น

“ลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กต้องการตัวช่วยมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ล่าสุดเราออกฟีเจอร์ใหม่ online loan request ให้ลูกค้าขอสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น” นางสาวเทียนทิพย์กล่าว


นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือน เม.ย. 2561 ธนาคารออกสินเชื่อโครงการพิเศษ ซึ่งเป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ กู้ระยะยาว 7 ปี และสามารถใช้เครื่องจักรเป็นหลักประกันได้ โดยจะเจาะกลุ่มลูกค้า 10 อุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ การบินและโลจิสติกส์ ฯลฯ และในไตรมาส 2 นี้จะออกสินเชื่อซัพพลายเชน ซึ่งเป็นวงเงินหมุนเวียนระยะสั้นให้แก่บริษัทคู่ค้าของบริษัทขนาดใหญ่ โดยผลิตภัณฑ์ใหม่ของธนาคารจะหนุนให้ปีนี้ยอดสินเชื่อคงค้างเอสเอ็มอีอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท เติบโต 11% จากปี 2560