
“ภากร” ผู้จัดการตลาดหุ้นไทย ตอบปมโครงสร้างบอร์ด ตลท. ไร้ปัจจัย Conflict of Interest ไม่แสดงความเห็น “นายกฯกังวลสภาพตลาดหุ้น-หารือที่ปรึกษานายกฯ” พร้อมโต้ข่าวลือ Naked Short ยืนยันไม่พบชอร์ตเซลที่ผิดกฎหมาย
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ชี้แจงประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ (บอร์ด ตลท.) เกี่ยวกับประเด็นโครงสร้างของบุคลากรที่รับผิดชอบในธรรมาภิบาล (Governance Structure) ว่า
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
ยืนยันว่าคณะกรรมการทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งมาอย่างเท่าเทียมแน่นอน ซึ่งสำหรับองค์ประกอบของบอร์ด ตลท. ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ กำหนดให้มาจาก 2 กลุ่ม คือ 1.บุคคลที่คณะกรรมการสำนักงาน ก.ล.ต. แต่งตั้งจำนวน 6 คน
และ 2.บุคคลที่มาจากการเลือกตั้งของบริษัทสมาชิก (บริษัทหลักทรัพย์) จำนวน 4 คน (แก้ไขให้ลดจาก 5 คน ตามกฎหมายกำหนดในปี 2562) โดยเป็นการเลือกตั้งสมาชิกทั้งหมดของบริษัทหลักทรัพย์ในปัจจุบันมีทั้งหมด 39 บริษัท ซึ่งมีบริษัทหลักทรัพย์หลายประเภท ทั้งที่ให้บริการนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นองค์ประกอบต่าง ๆ เป็นการเลือกตั้งมา ไม่ได้เป็นการแต่งตั้งที่ไม่เท่าเทียมกัน
ส่วนประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ของบอร์ด ตลท. ขอชี้แจงว่าการทำงานจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์ และนโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ (CG Policy)
โดยกรรมการ ผู้ใดมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องที่พิจารณา จะต้องแจ้งการมีส่วนได้ส่วนเสีย และไม่เข้าร่วมการพิจารณาในเรื่องนั้น ๆ
นอกจากนี้การดำเนินงานของฝ่ายจัดการ ตลท. ในเรื่องการดำเนินงาน Day to Day ได้มีการวางแผน และเป็นหน้าที่ของฝ่ายจัดการตลาดหลักทรัพย์ฯที่จะต้องดำเนินกิจกรรมต่อไป ไม่ได้มีการถูกให้นโยบายเพิ่มเติมจากคณะกรรมการใด ๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ยังมีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เข้ามาดูแลตรวจสอบ รายงานการประชุม รวมทั้งการทำงานที่มีความสอดคล้องกับบทบาทต่าง ๆ ในทุกปี ๆ ยืนยันว่าทำงานอย่างเต็มที่ และมีการตรวจสอบที่ถูกต้องอย่างแน่นอน
“ตลาดหลักทรัพย์ฯได้พยายามกำกับดูแลให้นักลงทุนทุกประเภทมีความเสมอภาค หากนักลงทุนมีข้อสงสัยพร้อมที่จะให้ข้อมูลในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้คำตอบที่ชัดเจน และสร้างความมั่นใจให้กับตลาด” นายภากรกล่าว
ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีกังวลกับสภาพตลาดหุ้นท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ ตลท.นั้น นายภากรไม่ขอแสดงความคิดเห็น และปฏิเสธที่จะเปิดเผยในระหว่างการหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ได้มีการหารือในประเด็นนี้หรือไม่อย่างไร รวมทั้งไม่ตอบถึงคำถามว่าหลังจากที่นายกรัฐมนตรีกลับจากประชุมเอเปคได้มีการเชิญเข้าไปหารือเรื่องนี้หรือไม่
นายภากรกล่าวถึงกรณีมีข่าวลือว่า เกิดการทำ Naked Short (การยืมหุ้นมาขายโดยไม่ได้มีหุ้นอยู่ในมือหรือเป็นการทุบหุ้น) ตามรายการซื้อขายตามข่าวเกิดขึ้นช่วงวันที่ 12 ก.ค. 2566 โดยใช้เวลาประมาณ 2 นาที รวมทั้งหมด 6 ออร์เดอร์ มีจำนวนคำสั่งขายประมาณ 30 ล้านหุ้น ซึ่งจากการตรวจสอบล่าสุด “ไม่พบความผิดปกติ“ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯมีมาตรการควบคุมและขั้นตอนดูแลอย่างรัดกุมในการตรวจจับ Naked Short ไม่อยากให้นักลงทุนเป็นกังวล
นางรศยุพา มิคะเสน ผู้ช่วยผู้จัดการหัวหน้ากลุ่มงานกำกับสมาชิกและการซื้อขาย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวเพิ่มว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการมอนิเตอร์พฤติกรรมแบบเรียลไทม์
ซึ่งพบว่าออร์เดอร์ที่มีการขายจำนวนมาก โดยไม่ได้ส่งจากนักลงทุนต่างชาติกลุ่มโปรแกรมเทรดดิ้ง แต่เป็นคำสั่งขายจากผู้ถือหุ้นในประเทศที่ถือครองหุ้นมากกว่าจำนวนที่ตั้งออร์เดอร์ขาย จึงไม่ใช่การชอร์ตเซล และคำสั่งขายจำนวนมากดังกล่าวไม่เกิดการจับคู่ (Match) จึงไม่กระทบราคาหุ้นในช่วงเวลาที่วางออร์เดอร์ไว้ ซึ่งภายใน 20 นาที หลังจากนั้นมีการถอนคำสั่งขายทั้งหมด และไม่ใส่กลับมาอีกเลยตลอดทั้งวัน
สำหรับขั้นตอนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯดำเนินการในการตรวจสอบชอร์ตเซลนั้น ปัจจุบันมีการรันข้อมูลทุกบัญชีเป็นรายวัน โดยดูทั้งกลุ่มนักลงทุนที่ยอมรับในการยืมหุ้นมา จะมีการสุ่มถามตรวจสอบความถูกต้อง และกลุ่มที่มีการซื้อขายระหว่างวันหรือขายก่อนแล้วซื้อกลับแต่ไม่ได้ยืม โดยจะมีการสอบถามบริษัทสมาชิกให้กรอกหลักฐานการยืม ก่อนการสั่งซื้อขายมีการได้ยืมหุ้นจากที่อื่นหรือไม่ ในจำนวนที่มากกว่าขายและเป็นเวลาก่อนที่จะขาย
ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบ Naked Short มาโดยตลอด โดยหากพบข้อสงสัยจะมีการสอบถามไปยังบริษัทสมาชิก ซึ่งก็มีการแสดงหลักฐานอย่างครบถ้วน ดังนั้นตอนนี้จากการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบกรณีการทำชอร์ตเซลที่ผิดกฎหมาย
สำหรับการส่งคำสั่งที่อาจจะไม่เหมาะสม หรืออาจเข้าข่ายการทำราคากับนักลงทุนทุกกลุ่ม ได้มีการประเมินคำสั่งให้เหมาะสมตลอดเวลา ซึ่งกรณีการส่งคำสั่งซื้อของนักลงทุนต่างชาติกลุ่มโปรแกรมเทรดดิ้ง มีการประเมินคำสั่งให้เหมาะสม ซึ่งเคยมีการส่งเคสไปให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้วเช่นกัน
“ขอให้มั่นใจว่าตลาดหลักทรัพย์ฯไม่เคยละเลยการทำงานในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทย หากแต่ราคาหุ้นที่ลงอย่ามองเป็นเรื่อง Naked Short Sell แต่เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก จึงอยากให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าเราไม่ปล่อยปละละเลย ให้ความสำคัญมาโดยตลอด” ผู้จัดการตลาดหุ้นไทยกล่าว