นายกสมาคม บล.ยอมรับ HFT เอฟเฟ็กต์หุ้น-นักเก็งกำไร หยุดเทรดสิทธินักลงทุน

นายกสมาคมบล.

“พิเชษฐ” นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ยอมรับ HFT กระทบตลาดหุ้นไทย เอฟเฟ็กต์นักลงทุนสายเก็งกำไร ชี้หยุดเทรดสิทธินักลงทุน มองค่าคอมมิชชั่นถูกแพงอยู่ที่เจรจาต่อรอง เปิดเสรีมาเป็น 10 ปีแล้ว ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดข้อมูลชอร์ตเซลทุกสิ้นวันไม่เกิน 1 ทุ่ม พร้อมเปิดเกณฑ์โชว์ข้อมูลโปรแกรมเทรดดิ้ง ยืนยันเข้มงวดตรวจ Naked Short

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นายพิเชษฐ สิทธิอํานวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ยอมรับว่าโปรแกรมเทรดดิ้งลักษณะรูปแบบการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความถี่สูง (High Frequency Trading) มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย โดยจะกระทบต่อนักลงทุนบางกลุ่ม อาทิ นักลงทุนเล่นสั้น หรือสายเก็งกำไร (เข้าเร็ว-ออกเร็ว) เนื่องจากคนไม่สามารถคีย์คำสั่งได้รวดเร็วเท่ากับเครื่องคอมพิวเตอร์

HFT ตัวป่วนตลาดทุน

“ปัจจุบันเรามีนักลงทุนหลายประเภท ตั้งแต่พวกเข้าถือสั้น ถือกลาง และถือยาว ผสมกันหมดฉะนั้นยอมรับว่า HFT มีผลกระทบ แต่กับนักลงทุนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ขอย้ำว่าเป็นกลไกของทุกตลาดในโลก” นายกสมาคม บล.กล่าว

ส่วนแนวทางการตรวจสอบ Naked Short Sell มีการกำกับดูแลจากสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงโบรกเกอร์มีการตรวจสอบตลอดเวลา โดยทุกครั้งที่มีการสุ่มตรวจตรวจจากทั้งสองหน่วยงานกำกับ เพื่อพิจารณารายการมีความผิดปกติหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายภายในวันหรือข้ามวันโดนหมด นั่นเพราะพวกเราไม่อยากให้ใครมาทำในลักษณะ “จับเสือมือเปล่า” คือไม่มีหุ้น แต่มาขายและซื้อคืน

ค่าคอมถูกแพงอยู่ที่เจรจาต่อรอง เปิดเสรีมาเแล้ว 10 ปี

นายพิเชษฐกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีนักลงทุนบางรายออกมาสะท้อนถึงค่าคอมมิชชั่นของ HFT ที่ถูกกว่านักลงทุนกลุ่มอื่นเป็น 10 เท่านั้น ทำให้ไม่มีความเป็นธรรม มองว่าไม่สามารถบอกได้ว่าถูกหรือแพง เพราะเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว และปัจจุบัน 40 โบรกเกอร์มีลักษณะธุรกิจที่แตกต่างกัน บางบริษัทมีนักลงทุนรายใหญ่อยู่มาก บางบริษัทมีนักลงทุน HFT อยู่มาก เพราะฉะนั้นคงขึ้นอยู่กับการต่อรองของนักลงทุนและโบรกเกอร์นั้น ๆ

อย่างไรก็ตามสำหรับภาพการแข่งขันของบริษัทหลักทรัพย์ฯ แม้ว่าตอนนี้หลายคนกังวลที่มีบางโบรกเกอร์ที่มีลูกค้า HFT อยู่มากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงของตลาดและการแข่งขันในอนาคต เพราะขยับมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วภายในเวลา 2 ปี ที่ปัจจุบันอยู่ระดับสูงกว่า 20% มองว่าสุดท้ายกลไกตลาดจะทำงานด้วยตัวเอง อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งก็จะมีการแข่งขันกันตามปกติ

Advertisment

รายย่อยหยุดเทรด เป็นสิทธินักลงทุน

นายพิเชษฐ กล่าวต่อว่า ส่วนการนัดรวมตัวกันของนักลงทุนรายย่อยเพื่อหยุดการซื้อขายในวันจันทร์ที่ 20 พ.ย.นี้ เป็นสิทธิของนักลงทุนที่จะดำเนินการได้ แต่โดยการทำงานของบริษัทหลักทรัพย์ไม่ชอบ อย่างไรก็ตามจะพยายามชี้แจงและให้ข้อมูลกับนักลงทุนได้รับรู้รับฟังความเห็นจากหลายด้าน ๆ และแนะนำว่าเวลารับฟังข้อมูลจากโซเชียลมีเดียหรือกระแสข่าวช่วยวิเคราะห์ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เพราะเมื่อทางการแถลงความชัดเจนไปแล้ว และโบรกเกอร์ให้มุมมองอีกด้านหนึ่ง ควรพิจารณาว่าปัจจัยใดบ้างที่ฟังแล้วมีเหตุและมีผล

“การนัดรวมตัวหยุดเทรดในเชิงสัญลักษณ์ก็เป็นสิทธิของนักลงทุน คงว่ากันไม่ได้ โดยทางโบรกเกอร์มีหน้าที่อย่างเดียวคือให้ข้อมูล วันจันทร์ตลาดเปิดมาก็ให้ข้อมูลสภาวะตลาดตามปกติ” นายพิเชษฐกล่าว

Advertisment

เปิดข้อมูลชอร์ตเซลทุกสิ้นวัน

นางสาวภัทรวสี สุวรรณศร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานบริหารการปฏิบัติการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท​.) กล่าวว่า ตามที่มีความกังวลเกี่ยวกับธุรกรรมชอร์ตเซลและโปรแกรมเทรดดิ้งนั้น เพื่อให้นักลงทุนได้ใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน

ปัจจุบันนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลรายวันของธุรกรรมการชอร์ตเซล (นักลงทุนจะต้องยืมหุ้นมาก่อนถึงจะส่งคำสั่งขายได้ โดยกำหนดกฎเกณฑ์ต้องขายในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาตลาด) อยู่แล้ว โดยจะสรุปข้อมูลสถิติในทุกสิ้นวัน โดยโชว์เป็นรายหลักทรัพย์ให้กับผู้ลงทุนบนหน้าเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณเวลาไม่เกิน ​19.00 น. ของแต่ละวัน

กางเกณฑ์เปิดข้อมูลโปรแกรมเทรดดิ้ง

ขณะเดียวกันได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลการเปิดเผยธุรกรรมโปรแกรมเทรดดิ้ง (ประเภทชุดโปรแกรมที่กำหนดเขียนเอาไว้ตั้งแต่แรกว่าในกรณีถึงเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ราคาของหุ้นหรือระดับของดัชนีถึงระดับที่ต้องการ ให้ส่งคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขาย) ซึ่งได้เริ่มเผยแพร่ข้อมูลนี้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. 2566 เป็นต้นไป โดยจะเป็นข้อมูลของสิ้นวันที่ผ่านมาว่ามีสัดส่วนยอดซื้อขายเป็นอย่างไร

ทั้งนี้จะโชว์เฉพาะหลักทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ซึ่งต้องเข้าเกณฑ์กำหนด 2 กรณีคือ 1.ต้องมีการเปลี่ยนแปลงของราคามากกว่า 10% (บวก-ลบ) 2.มีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งต้องเข้าเกณฑ์ทั้งสองถึงจะโชว์ให้เห็น โดยช่วงที่มีผันผวนมาจะมีประมาณ 5-10 หลักทรัพย์ ที่อาจจะมีการเคลื่อนไหวของราคาไม่เกิน 10% แต่มีมูลค่าซื้อขายมากกว่า 50 ล้านบาท จึงไม่ได้แสดงข้อมูล

เล็งทบทวนเกณฑ์

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท​.) กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่าโปรแกรมเทรดดิ้งมีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคา ทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวน โดยตอนนี้มีสัดส่วนประมาณ 40% ของมูลค่าการซื้อขาย จึงศึกษาและกำหนดเกณฑ์ดังกล่าว

แต่หากนักลงทุนมองว่าการเปลี่ยนแปลงของราคามากกว่า 10% หรือมูลค่าซื้อขายมากกว่า 50 ล้านบาท เกณฑ์กำหนดสูงเกินไป ทำให้ไม่เห็นข้อมูลธุรกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ตามทางตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะนำเรื่องนี้กลับไปพิจารณาทบทวนอีกครั้ง

เข้มงวดตรวจ Naked Short

นายรองรักษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจสอบการทำธุรกรรม Naked Short นั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการตรวจสอบที่เข้มงวดมาก โดยใช้วิธีกำกับดูแลผ่านบริษัทหลักทรัพย์ และในการทำการชอร์ตเซลทุกครั้ง ผู้ที่จะดำเนินการจะทำได้ต้องมีหุ้นในมือทุกครั้ง โดยจะใช้หลักการดูการประทับเวลา (timestamp) การส่งคำสั่งซื้อว่า ณ เวลาที่ทำการซื้อขายนั้นมีหุ้นอยู่ในมือหรือไม่

ส่วนการส่งคำสั่งมาจากต่างประเทศ แม้ว่าหุ้นจะฝากไว้ที่คัสโทเดียน แต่บริษัทหลักทรัพย์จะมีหน้าที่ต้องตรวจสอบเป็นด่านแรก ก่อนที่จะส่งคำสั่งขายของลูกค้าว่ามีหุ้นอยู่หรือไม่ เพราะถ้าขายโดยไม่มีหุ้นอยู่ในความครอบครอง บริษัทหลักทรัพย์จะถูกลงโทษ เพราะฉะนั้นบริษัทหลักทรัพย์ทุกรายจะต้องมีระบบตรวจสอบคำสั่งขาย เพราะฉะนั้นยิ่งวิ่งผ่านระบบเข้ามา จะเป็นการยืนยันว่าธุรกรรมดังกล่าวมีการตรวจสอบที่เข้มงวดและรัดกุม

“ถ้าเราตรวจพบธุรกรรม Naked Short จะลงโทษ บล.ทำไม่ถูกต้องตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด และเนื่องจากการทำธุรกรรม Naked Short ถือเป็นความผิดอาญาตาม พรบ.หลักทรัพย์ฯ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจะมีการส่งเรื่องให้สำนักงาน ก.ล.ต.พิจารณาลงโทษด้วย“ นายรองรักษ์ กล่าว