
เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ รอรายงานประชุมเฟดที่จะเปิดเผยในคืนวันพุธนี้ หลังนักลงทุนส่วนใหญ่คาดเฟดจะยุติการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบสุดท้ายของปีในเดือนธันวาคมนี้
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 20 พ.ย. 2566 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/11) ที่ระดับ 35.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/11) ที่ระดับ 35.03/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ โดยตลาดกำลังจับตาดูรายงานการประชุมนโยบายการเงินสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน 2566 ที่จะมีการเปิดเผยในคืนวันพุธนี้ เพื่อรอประเมินความชัดเจนที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังนักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เฟดจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเฟดรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 12-13 ธันวาคม 2566
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนวันศุกร์ (17/11) ได้แก่ ตัวเลขเริ่มต้นสร้างบ้านสูงประจำเดือนตุลาคม โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9% สู่ระดับ 1.372 ล้านยูนิต สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.350 ล้านยูนิต ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 1.1% สู่ระดับ 1.487 ล้านยูนิต
ส่วนปัจจัยภายในภูมิภาค ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี ที่ระดับ 3.45% และคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีไว้ที่ระดับ 4.20% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.5%
นอกจากนี้ยังมีการได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบจำนวน 1.45 ล้านล้านหยวน (2 แสนล้านดอลลาร์) ผ่านโครงการ MLF และกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ระดับ 2.5% ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินมากที่สุดในรอบเกือบ 7 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และเพื่อช่วยคลี่คลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะสภาพคล่องตึงตัว ในขณะที่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของจีนเตรียมออกพันธบัตรเพิ่มเป็นทนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับปัจจัยในประเทศ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 3/2566 ขยายตัว 1.5% ชะลอลงจาก 1.8% ในไตรมาสที่ 2/2566 ปัจจัยหลักมาจากการส่งออกรวมที่ชะลอตัวลง ในส่วนของภาคบริการขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐลดลงต่อเนื่องตามการลดลงของการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรค Covid-19 สำหรับการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงขยยตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สศช.คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ประมาณ 2.5% ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวได้ 2.6% ในปีที่ผ่านมา ในขณที่ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7-3.7% ทั้งนี้การขยายตัวดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาล เนื่องจากต้องรอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนทั้งแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการ
ตลอดจนความชัดเจนในประเด็นอื่น ๆ อาทิ รูปแบบการใช้จ่าย โดยขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาตีความร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน ระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 35.01-35.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.08/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/11) ที่ระดับ 1.0910/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/11) ที่ระดับ 1.0865/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0896-1.0935 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0933/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/11) ที่ระดับ 149.8/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/11) ที่ 149.43/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ นายคาซูโอะ อูเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น มีการแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันศุกร์ (17/11) ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-Loose Policy) จนกว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ได้อย่างยั่งยืน
โดยแม้ว่าปัจจุบันเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่การเพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้นตามการเติบโตของค่าจ้าง ไม่ใช่การฟื้นตัวของอุปสงค์การใช้จ่ายภายในประเทศ โดยคนญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายและฝากเงินในธนาคารมากขึ้น
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2566 ยังหดตัวที่ 2.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส และหดตัวมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ว่าจะติดลบเพียง 0.6% โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.31-149.99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.41/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (22/111), รายงานประชุมเฟด เมื่อวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. 2566 (22/11), ดัชนี PMI ขั้นต้นยูโรโซน เดือน พ.ย. (23/11), ดัชนี PMI ขั้นต้นอังกฤษ เดือน พ.ย. (23/11) และดัชนี PMI ขั้นต้นสหรัฐ เดือน พ.ย. (24/11)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.80/-8.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.00/-10.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ