ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังเผชิญปัญหาการเมือง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 1 สิงหาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/8) ที่ระดับ 33.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (31/7) ที่ 33.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงจากปัญหาด้านการเมืองในประเทศ รวมถึงทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้ก็ยังคงไม่แน่นอน โดยช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ สั่งปลดนายแอนโธนี สการามุชชี ออกจากตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสื่อสารประจำทำเนียบขาว ทำให้นักลงทุนต่างกังวลถึงเสถียรภาพของรัฐบาลสหรัฐ และแผนการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงหลังจากนี้ว่าจะมีปัญหาตามมาหรือไม่ ส่วนประเด็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดกลับมาถูกจับตามองอีกครั้งหลังจากที่เมื่อคืน นายสแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมากล่าวว่า การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ไม่ได้มีสาเหตุเพียงอย่างเดียว โดยการที่เฟดตรึงไว้ในระดับปัจจุบันเกิดจากการที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะอ่อนแอ รวมทั้งจากปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายปัจจัย นายฟิสเชอร์ระบุว่า การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจมีศักยภาพในการขยายตัวที่ค่อนข้างจำกัด และการเติบโตที่ชะลอตัวลงจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการลงทุนของนักลงทุนโดยตรง ส่วนด้านสภาวการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวมีสาเหตุมาจากประสิทธิภาพในการผลิตอยู่ในระดับต่ำ และมีการลงทุนที่ซบเซาในภาคธุรกิจ ซึ่งการที่จะผ่านสถานการณ์ดังกล่าวจำเป็นจะต้องมีการใช้นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อเพิ่มการผลิต นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้มีการออกรายงานระบุว่า ดอลลาร์มีมูลค่ามากกว่าความเป็นจริงถึง 10-20% เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งรายงานนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยรายงานได้ระบุว่า กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ กำลังมีปัญหาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้น ทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาก็จะมี ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ที่ประกาศโดย สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายเดือน หลังปรับตัวลง 3 เดือนติดต่อกัน ขณะที่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเขตชิคาโกปรับตัวต่ำกว่าคาดในเดือนกรกฎาคม โดยอยู่ที่ระดับ 58.9 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 60.0

ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย โดยนายดอน นาครธรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/60 มีทิศทางการขยายตัวต่อเนื่อง และมีอัตราการขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาส 1/60 ที่ 3.3% ซึ่งแรงขับเคลื่อนหลักจะมาจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีและทั่วถึงมากขึ้น ส่วนด้านการใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนอาจจะมีการชะลอลงตามรายจ่ายลงทุนและการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน แต่ก็ยังคงเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักเช่นกัน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวลงตามราคาอาหารสด จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากในปีนี้ สำหรับอัตราการว่างงานคาดว่ราจะคงที่ในระดับต่ำเท่ากับไตรมาสก่อน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.23-33.32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (1/8) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1822/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (31/7) ที่ 1.1733/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเนื่องจากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ และตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแรง โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในยูโรโซนทรงตัวที่ระดับ 1.3% ในเดือนกรกฎรคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ อย่างไรก็ดี ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 1.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี จากระดับ 1.2% ในเดือนมิถุนายน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะลดลงสู่ระดับ 1.1% นอกจากนี้ ยูโรสแตทยังเปิดเผยว่า อัตราการว่างงานในยูโรโซนร่วงลงสู่ระดับ 9.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2009 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 9.2% ทั้งวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1809-1.1845 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1816/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (1/8) เปิดตลาดที่ระดับ 110.39/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (31/7) ที่ระดับ 110.56/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากที่นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนด้านการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐ นอกจากนี้ผลสำรวจนักวิเคราะห์ระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัว 2.5% ในไตรมาส 2 โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคในภาคเอกชน และการใช้จ่ายเงินทุน ซึ่งจะผลักดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 โดยทางด้าน คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะเปิดเผยตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ในวันที่ 14 สิงหาคมที่จะถึงนี้ โดยทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.98-110.41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.29/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์นี้ รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนมิถุนายนของสหรัฐ (1/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นปลายเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (1/8), ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (2/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.60/0.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.50/-2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ