เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 18 เมษายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (17/4) ที่ระดับ 31.21/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าในช่วงสาย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมีนาคม สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% เป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นของภาคสาธารณูปโภค ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 0.3% ไปอยู่ระดับ 78.0% ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน นอกจากนี้แล้วทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ได้มีการเปิดเผยตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 1.9% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 1.319 ล้านยูนิต ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.262 ล้านยูนิต ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 2.5% สู่ระดับ 1.354 ล้านยูนิต นอกจากนี้ นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ สาขาชิคาโก ได้กล่าวว่า เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะร้อนแรงจนเกินไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐยังคงอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ สาขาซานฟรานซิสโกคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับเป้าหมายของเฟดที่ 2.0% ภายในปีนี้

อย่างไรก็ตามตลาดยังคงจับตามองท่าทีของสหรัฐ และรัสเซีย หลังจากการโจมตีซีเรียของสหรัฐ และชาติพันธมิตรเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (14/4) แต่รัสเซียยังไม่ได้มีท่าทีตอบโต้ ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดผ่อนคลายลง โดยในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 31.20-31.26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 31.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (18/4) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2366/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (17/4) ที่ระดับ 1.2366/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยูโรโซนเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเยอรมนี (ZEW) ลดลงมาอยู่ที่ระดับ -8.2 ในเดือนเมษายน จากระดับ 5.1 ในเดือนมีนาคม และต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ -1.0 นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.3% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 1.4% เนื่องจากตลาดมีความกังวลต่อสงครามการค้าโลกในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวนอยู่ในช่วงระหว่าง 1.2343-1.2380 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2358/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของคาเงินเยนวันนี้ (18/4) เปิดตลาดที่ระดับ 107.19/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (17/4) ที่ระดับ 107.07/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้าในปีงบประมาณ 2560 ทั้งสิ้น 2.46 ล้านล้านเยน (ประมาณ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากอุปสงค์ในต่างประเทศที่แข็งแกร่งได้ช่วยสนับสนุนปริมาณการส่งออกของญี่ปุ่นให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยยอดส่งออกในปีงบประมาณ 2560 พุ่งขึ้น 10.8% แตะระดับ 79.22 ล้านล้านเยน ซึ่งปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากยอดส่งออกรถยนต์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 13.6% สู่ระดับ 76.77 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ส่วนในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียวนั้น ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้าทั้งสิ้น 7.973 แสนล้านเยน โดยยอดส่งออกในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 0.6% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 107.01-107.38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 107.27/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (18/4) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีการผลิตเดือนเมษายน จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (18/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.9/-2.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.6/-1.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ