ค่าเงินบาททรงตัว ในขณะที่ตลาดยังคงจับตาปัญหาสงครามในซีเรีย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.21/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (18/4) ที่ระดับ 31.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในคืนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจทั้ง 12 เขต หรือ “Beige Book”

ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเป็นบวก อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจของสหรัฐมีความกังวลว่า มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และภาษีนำเข้าอะลูมิเนียมในอัตรา 10% จากประเทศต่าง ๆ รวมถึงจีน พร้อมกับขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 25% จำนวน 1,300 รายการ ตั้งแต่สินค้าอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น การแพทย์ การบิน และเซมิคอนดักเตอร์ ไปจนถึงสินค้าจำพวกเครื่องจักรและเคมีภัณฑ์ รายงานของเฟดระบุว่า หลังจากมีการประกาศมาตรการดังกล่าวราคาเหล็กได้ปรับตัวขึ้นอย่างมาก ขณะที่ภาคธุรกิจต่างก็คาดการณ์ว่า ราคาสินค้าจะปรับตัวขึ้นอีกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาเหล็กและราคาสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ รายงานของเฟดยังระบุว่า บริษัทสหรัฐหลายแห่งยังคงเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม เฟดในเขตส่วนใหญ่รายงานว่า อัตราค่าจ้างมีการขยายตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ การเปิดเผยรายงาน Beige Book ครั้งล่าสุดนี้ มีขึ้นก่อนที่การประชุมเฟดครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 1-2 พฤษภาคมนี้

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษก สศค.ชี้แจงว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับต่อเนื่องตลอด 3-4 ปี จาก 1.0% ในปี 2557 ขึ้นมาเป็น 3.0% 3.3 % และ 3.9% ในปี 2558 2559 และ 2560 ตามลำดับ และคาดว่าในปี 2561 จะขยายตัวได้ 4.2% ต่อปี เป็นการขยายตัวในระดับเต็มศักยภาพ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคและการลงทุนโดยรวมยังสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ดี นอกจากนี้โฆษก สศค.กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้วางรากฐานระยะปานกลางและระยะยาวให้แก่เศรษฐกิจ เพื่อสร้างโอกาสและความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชนในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น โครงการลงทุนใน EEC โดยการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อให้เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งใช้เงินลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้เป็น New Engine of Growth ของเศรษฐกิจไทยและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โครงการ National e-Payment เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกใน Asia ที่ริเริ่มโครงการในลักษณะนี้ สนับสนุน FinTech และส่งเสริมการใช้ QR Code นอกจากนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะกระจายโอกาสไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านโครงการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งและส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดรองมีงานทำและมีรายได้มากขึ้น ตลอดจนดูแลผู้มีรายได้น้อย 11.4 ล้านคน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยให้มีทักษะอาชีพเพิ่มขึ้น มีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถเข้าถึงปัจจัย 4 ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 31.20-31.245 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.22/31.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (19/4) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2375/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (18/4) ที่ระดับ 1.2369/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยรวมค่าเงินยูโรยังคงทรงตัวในขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาดูปัญหาสงครามในซีเรีย ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.2361-1.2400 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2361/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (19/4) เปิดตลาดที่ระดับ 107.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (18/4) ที่ระดับ 107.24/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเฟดเปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีแรงเทขายเงินเยนออกมาในวันนี้ นอกจากนี้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้าในเดือนมีนาคมทั้งสิ้น 7.973 แสนล้านเยน ขณะที่ยอดส่งออกในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนยอดนำเข้าลดลง 0.6% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 107.19-107.51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 107.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (19/4) และดัชนีการผลิตเดือน เม.ย.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (20/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.0/-2.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.5/-1.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ