เปิดโอกาส เจาะตลาดอินเดีย

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ ธนาคารกสิกรไทย

ช่วงหลายปีมานี้ อินเดียเป็นอีกประเทศที่น่าจับตามอง เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่องมาตลอด โดยปัจจุบันเศรษฐกิจอินเดียใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก และมีแนวโน้มที่จะขยับขึ้นเป็นอันดับ 5 ในปี 2562 ประกอบกับฐานกำลังซื้อจากจำนวนประชากรของอินเดียที่มีกว่า 1,300 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของโลกเป็นรองเพียงจีน ขณะเดียวกันโครงสร้างประชากรก็ยังเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก โดยอายุเฉลี่ยของชาวอินเดียอยู่ที่เพียง 28 ปี เทียบกับจีนที่ 37 ปี ญี่ปุ่นอยู่ที่ 47 ปี ไทยและสหรัฐ 38 ปี สิงคโปร์ 35 ปี และเวียดนาม 31 ปี อีกทั้งสัดส่วนจำนวนประชากรเมือง (urban population) ที่รายได้ของอินเดียก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมก็ยังมีแนวโน้มขยายการลงทุนในทิศทางที่สอดรับกับการผลักดันนโยบาย Make in India ของภาครัฐ ทำให้อินเดียกลายเป็นตลาดเนื้อหอมสำหรับใครหลายคนขึ้นมาทันที

สำหรับการส่งออกของไทยไปยังอินเดีย คาดว่าในปี 2561 อาจขยายตัวประมาณ 8.5-10.0% จากมูลค่าทั้งปี 2560 ที่ 6,500 ล้านดอลลาร์ โดยมีปัจจัยหนุน ได้แก่ เศรษฐกิจอินเดียที่มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่ง และอานิสงส์จากการบังคับใช้ภาษี GST ที่เอื้อให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการปรับลดลง และต้นทุนธุรกิจบริการลดต่ำลง จนทำให้เกิดความต้องการสินค้าต่าง ๆ ตามมา นอกจากนี้ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA ไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดีย ยังเป็นผลบวกต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังอินเดียด้วย โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสเติบโตในตลาดอินเดีย สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง สอดรับกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมหลักในอินเดีย

2.กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ได้แก่ อาหารแปรรูปอย่างอาหารกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ข้าว สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่ม และอาหารสดทั้งผลไม้ ผัก ประมง ปศุสัตว์ ก็มีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตของกำลังซื้อชาวอินเดีย และการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ อีกทั้งตราสินค้าไทยก็เป็นที่ยอมรับของคนอินเดีย ส่วนสินค้าประเภทน้ำมันจากพืชและสัตว์อย่างน้ำมันปาล์มนั้นก็ยังมีแนวโน้มที่ดี

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการ SMEs ที่ส่งออกไปตลาดอินเดีย ยังมีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างน้อย เนื่องจากมูลค่าการส่งออกของ SMEs ไปอินเดียอยู่ที่ 52,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 29% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังอินเดีย เนื่องมาจากการเจาะตลาดอินเดียมีความท้าทายหลายด้าน ซึ่งผมขอแนะนำกลยุทธ์ในการเจาะตลาดอินเดีย ได้แก่

1.การใช้ความแตกต่างของสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดีย เพื่อสร้างแต้มต่อทางธุรกิจ

2.การทำตลาดผ่านช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ ออนไลน์ รวมถึงตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียที่มาเที่ยวไทย เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวอินเดีย

3.การจับมือกับพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในอินเดีย หรือธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในอินเดีย

การเจาะตลาดอินเดียเป็นหนึ่งในโอกาสที่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยไม่ควรมองข้าม แต่ความท้าทายคงอยู่ที่การทำการตลาดและความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ รวมถึงภาคธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่ ผู้ประกอบการจึงต้องเลือกใช้กลยุทธ์ให้เหมาะสม